วันจันทร์, เมษายน 19, 2564

การนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า

 การนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า

๑) ห้ามมิให้ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จาก ซากสัตว์ป่าสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี และเป็นการกระทําเพื่อกิจการสวนสัตว์ของผู้รับใบอนุญาต จัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ตามมาตรา ๓๓ หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ (มาตรา ๒๒)

๒) การนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ของซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี เว้นแต่เป็น ของใช้สอยส่วนตัวตามชนิด ประเภท และจํานวนที่อธิบดีกําหนด และการนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง จะกระทําได้เฉพาะกิจการสวนสัตว์ของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการ สวนสัตว์ตามมาตรา ๓๓ หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่เท่านั้น (มาตรา ๒๓)

๓) การส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่มิใช่สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าควบคุม จะต้องมีใบรับรองการส่งออกตามความต้องการของประเทศปลายทาง หรือผู้นําเข้าหรือผู้ส่งออกผู้ใดประสงค์จะได้ใบรับรองการนําเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ จากซากสัตว์ป่า อาจยื่นคําขอรับใบรับรองการนําเข้าหรือส่งออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ (มาตรา ๒๔)

๔) การนําผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องแจ้งการนําผ่านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจํา ด่านตรวจสัตว์ป่า รวมทั้งกําหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว เมื่อมีการนําเข้าหรือส่งออกแล้วให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจําด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาต นําเข้าหรือส่งออก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วจึงให้นําเคลื่อนที่ต่อไปได้ (มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๗)

๕) การตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าและเขตความรับผิดชอบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด (มาตรา ๒๖)

 

การดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และการค้าสัตว์ป่า

๑) การดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ตามมาตรา ๘ หรือสัตว์ป่า ควบคุมตามมาตรา ๙ เฉพาะชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี (มาตรา ๒๘)

๒) ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซาก สัตว์ป่าดังกล่าว (มาตรา ๒๙)

๓) การค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ตามมาตรา 4 สัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา ๙ เฉพาะชนิด ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาต จากอธิบดี และในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ ประสงค์จะค้าสัตว์ป่า ดังกล่าวไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าตามมาตรา ๓๐ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของผู้รับใบอนุญาตค้า ที่กําหนดในกฎกระทรวง หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ถือเป็นเหตุพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ ด้วย (มาตรา ๓๐)

๔) กําหนดบทบัญญัติรองรับให้กรณีที่มีการออกประกาศกําหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้อง ขอรับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ หรือขอใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าตามมาตรา ๓๐ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกําหนดระยะเวลาให้ผู้ดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ควบคุม หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ประกาศกําหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมจะมีผลใช้บังคับ ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์ หรือยื่นคําของรับใบอนุญาตค้าแล้วแต่กรณี (มาตรา ๓๑)

 

การดําเนินการต่อสัตว์ป่าอันตรายและซากสัตว์ป่าอันตราย

๑) สัตว์ป่าอันตราย เป็นสัตว์ป่าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อมนุษย์หรือสัตว์ป่าอื่น หรือมีผลคุกคามให้สัตว์ป่า พืชป่า สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ เปลี่ยนแปลงเสียหายอย่างรวดเร็ว หรือเป็น พาหะนําโรคหรือแมลงศัตรูพืช (มาตรา ๔)

การกําหนดให้สัตว์ป่า ชนิด ประเภท หรือจํานวนใด เป็นสัตว์ป่าอันตรายให้กําหนด โดยประกาศของรัฐมนตรี (มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง)

๒) ผู้ใดมีสัตว์ป่าอันตรายหรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวไว้ในครอบครองต้องแจ้งต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมสัตว์ป่าอันตรายหรือซากสัตว์ป่าอันตรายตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด กรณีมีความจําเป็นเพื่อคุ้มครองมนุษย์ สัตว์ป่า พืชป่า สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจมีคําสั่งให้ผู้ครอบครองกําจัด หรือทําลายสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่านั้น หรือส่งมอบสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่านั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกําจัด หรือทําลายต่อไปโดยเร็ว (มาตรา ๓๒ วรรคสอง)

Pages