แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บุคคลสำคัญ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บุคคลสำคัญ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2555

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

        “ลืม...ผมหรือยังครับแฟน...เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง....”
บทเพลง “แฟนจ๋า” ที่ร้องออดอ้อนแฟนเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งนี้ ทำให้หลายคนที่ได้ฟัง อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเจ้าของผลงานเพลงคนนี้ เพราะเขาคือ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เมืองไทยเคยมีมา
สุรพล สมบัติเจริญ
         ผมเชื่อว่าถ้าใครเป็นแฟนเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ แล้วล่ะก็ ถ้าได้ยินเพลงนี้เข้า ต้องคิดถึงเขาแน่ ๆ คงไม่มีทางลืมเขาได้ลงคอ
        ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ วงการเพลงของโลก สูญเสีย เอลวิส เพรสลี่ย์ “ราชาเพลงร็อก แอนด์ โรล” ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวโลกรู้จักกันดี เขาจากไปพร้อมกับความโศกเศร้าเสียใจของเหล่าแฟนเพลงทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้น คนไทยทั้งประเทศก็ต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน กับการจากไปของ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม เช่นกัน แต่เป็นปี พ.ศ.๒๕๑๑
         ๑๖ สิงหาคม จึงเป็นวันที่แฟนเพลงต่างร่วมรำลึกถึงราชาเพลงผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนนี้ โดยเฉพาะรายการเพลงทางสถานีวิทยุต่าง ๆ คงเปิดเพลงของราชาเพลงทั้งคู่กันทั้งวันเลยทีเดียว
         เดิมทีเพลงลูกทุ่งนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเพลงในกลุ่มเดียวกันกับเพลงไทยสากล โดยยังไม่มีการแยกประเภทเพลงไทยสากลออกเป็น “ลูกทุ่ง” หรือ “ลูกกรุง” เพราะบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีในเวลานั้นต่างประสงค์ที่จะไม่ให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลออกจากกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แนวเพลงพื้นบ้านที่มีคำร้อง คำบรรยาย กล่าวถึงวิถีของชาวชนบท ชีวิตของหนุ่มบ้านนอก สาวบ้านนา และความยากจน ที่มีนักร้องกลุ่มหนึ่งในขณะนั้นนิยมร้อง ก็ถูกชาวบ้านเรียกขานกันว่าเป็น “เพลงตลาด”
          จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ รายการเพลงของสถานีไทยโทรทัศน์ ซึ่งจัดโดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ และเปิดเฉพาะ “เพลงตลาด” ที่ใช้ชื่อว่า “รายการเพลงลูกทุ่ง” นั้น กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดาผู้ฟัง ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เพลงลูกทุ่ง”  ก็ถูกแยกออกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดยปริยาย
          ในหนังสือกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” หมายถึง “เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติ และวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง”
สุรพล
          ความนิยมของวงดนตรีลูกทุ่งยุคนั้นนอกจากจะวัดกันที่พวงมาลัยที่เหล่าแฟนเพลงคล้องให้นักร้องจนท่วมหัวแล้ว ยังวัดกันที่การประชันวงกันแบบซึ่ง ๆ หน้า ชนิดที่เรียกได้ว่าหันหน้าชนกันครั้งละ ๓ – ๔ วง ตามงานประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่มีชื่อเสียงทางภาคกลาง เช่น จังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม หากแฟนเพลงไปรวมตัวกันชมดนตรีอยู่ที่หน้าวงไหนมากที่สุด ก็ถือกันว่าวงนั้นเป็นวงยอดนิยมของขวัญใจมหาชนตัวจริงเสียงจริง
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นผู้ที่ทำให้เพลงลูกทุ่งพุ่งผงาดอยู่ในความนิยมของวงการเพลง ด้วยลีลาและรูปแบบเฉพาะตัว การได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ก็เพราะความมีอัจฉริยะในตัวเองที่สามารถแต่งเพลงเองและร้องเพลงเองได้ด้วย
           เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ และมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ต่าง ๆ ที่กองทัพอากาศได้รับเชิญไปให้แสดง จนได้รับการสนับสนุนให้ได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง “น้ำตาลาวเวียง” ตามมาด้วยเพลง “ชูชกสองกุมาร” ที่ทำให้ “สุรพล สมบัติเจริญ” เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟน ๆ
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นคนที่มีใจฝักใฝ่ในการทำเพลงตลอดเวลา ไม่ว่าตนเองจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม คนใกล้ชิดคนหนึ่งของเขาเล่าว่า “ค่ำวันหนึ่ง สุรพล ชวนผมขี่รถเวสป้าคันโปรดเพื่อที่จะไปธุระด้วยกัน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย อยู่ ๆ เขาก็ฮัมขึ้นเป็นเพลงว่า หนาวจะตายอยู่แล้ว...ว...ว...และหลังจากนั้นไม่กี่วันก็กลายมาเป็นเพลงสุดฮิตอีกเพลงของเขา...หนาวจะตายอยู่แล้ว”
            นอกจากนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ยังทำหน้าที่เป็นครูเพลง ทั้งแต่งเพลงให้คนอื่นร้อง ทั้งปลุกปั้นนักร้องรุ่นน้องจนโด่งดังมีชื่อเสียงอีกมากมาย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เป็นต้น
           สุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่จังหวัดนครปฐม เมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี เขาจากไปโดยได้ทิ้งผลงานเพลงที่แต่งเองและร้องเองเป็นชิ้นสุดท้ายเอาไว้ นั่นคือเพลง “๑๖ ปีแห่งความหลัง” และยังเป็นเพลงสุดท้ายที่เขาร้องก่อนก้าวลงจากเวทีในคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๑ อีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือมอร์มูฟแม็กกาซีน ( Moremove Magazine) เล่มที่ ๓๓ ประจำเดือน สิงหาคม ๒๐๑๐

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 03, 2555

ความสำคัญในนาม ปรีดี พนมยงค์


ความสำคัญในนาม ปรีดี พนมยงค์ 

    วันปรีดี พนมยงค์ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันเกิด ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล เมือ ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้รับการประกาศยกย่องจากยุเสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกและได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโก
   ถนนประดิษฐ์มนูธรรม  เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช กรุงเทพฯ มีความยาว ๑๒ กิโลเมตร
   ถนนปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ ๓ สาย คือที่ถนนสุขุมวิท ๗๑  ถนนใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
    สะพานปรีดี – ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักอันเป็นทางเข้าออกหลักของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งตามชื่อนาย ปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
     อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ บริเวณลานหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และหน้าอาคารยิมเนเซียม ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
     อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ ๒ ที่คือบริเวณที่ดินถิ่นกำเนิดของนายปรีดี จ. พระนครศรีอยุธยาและห้องอนุสรณ์สถานบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     สถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ๕๕
     หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     ปรีดีคีตานุสรณ์ คือ บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข ๔ ประพันธ์โดยคีตกวี สมเถา สุจริตกุล ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์
      วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
       นกปรีดี (Chloropsis Aurifrons Pridii) เป็นชื่อนกชนิดย่อยของนกเขียวก้านทองหน้าผากสีทอง ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
          ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii) เป็นปลาที่ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 

      ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ด้านการเมืองการปกครองของไทยช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราว 70 ปี ที่ผ่านมา
    แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่มีอายุสูงวัยกว่านั้นหรือเกิดก่อนนั้นคงจะมีน้อยเต็มที หลายท่านก็ยังคงเป็นเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องการเมือง...ทว่านาม ปรีดี พนมยงค์ นามนี้ดูเหมือนว่าชาวไทยแทบทุกวัยในวันนี้จะคุ้นเคย แต่ก็อาจจะยังไม่รู้จักมักจี่กันดีว่า  ท่านผู้นี้คือใครกัน
          นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗  ตำแหน่งนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้นาม ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
          หนึ่งในกลุ่มคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ประสานงานขบวนการเสรีไทยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนแรก ซึ่งฐานะหลังนี้เองที่ยิ่งสนับสนุนให้ท่านโดดเด่นในวงการการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง  เพราะศิษย์จากรั้วมหาวิทยาลัยนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการปกครองประเทศไทยตลอดมา
          ประวัติ: ท่านเป็นชาวกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเรือนแพย่านวัดพนมยงค์ ลูกชาวนาชาวสวนที่มีฐานะดี สอบไล่ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับปริญญาทางกฎหมาย และได้ “ลิซองซิเอ ทางกฎหมาย” จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย ( Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส
           หลังจากกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม แล้วย้ายไปเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
           หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหารราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยชุดแรกสำเร็จ ท่านเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
            เมื่อถึงช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเสนอรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งต่อมาไม่นานพันเอกพระยาพหลพล-พยุหเสนาทำรัฐประหารอีกครั้งและได้ตั้งคณะกรรมการ สอบสวนคดีดังกล่าวปรากฎว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทิน และนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส
           นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และช่วงที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยพระแสงปืน  นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของเขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบได้ ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
          ต่อมามีรัฐประหารอีกครั้ง นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีไปพำนักอยู่ที่มาเลเซีย จนลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในจีน กระทั่งถึงแก่สัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๓ ปี

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2555

ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
    พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒  ที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มชีวิตวัยเยาว์ในถิ่นที่เกิด จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๔๓๕ จึงอุปสมบท ณ วัดใต้ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้ยัติเป็นธรรมยุติที่วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) และจำพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี
       พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระภิกษุที่จำเริญธรรมในสายวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายธรรมยุต เป็นต้นแบบแก่หมู่พระสงฆ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตร ซึ่งพระสงฆ์และฆราวาสในสมัยนั้นต่างให้ความศรัทธาเลื่อมใส ท่านเป็นผู้ที่ชักชวนให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อริยสงฆ์สำคัญสายวิปัสสนากรรมฐานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อครั้งยังเยาว์ อุปสมบท ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีที่ท่านจำพรรษาอยู่

       หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลยได้กล่าวถึงพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ว่า "นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริก หมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหารทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย เอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ ชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบรูปร่างใหญ่สันทัด รักเด็ก อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ น้ำผึ้ง.."
         ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๖๑ พระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นได้บำเพ็ญธุดงควัตรในเขตอำเภอหนองสูง จังหวัดนครพนม ต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังออกพรรษา (พ.ศ.๒๔๖๑) จึงกลับไปจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๓ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สุวรรณ และพระอาจารย์สิงห์
          นับแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้ดำรงตำแหน่งพระครูวิเวกพุทธกิจ เจ้าอาวาสวัดเลียบและวัดใต้ จนล่วงสู่ปัจฉิมวัย ราว พ.ศ.๒๒๔๘๐ ท่านได้บำเพ็ญธุดงควัตรและเปลี่ยนมาจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์ดี ฉันโน  ณ วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ถึงแก่มรณภาพขณะก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ ณ วัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๔
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
 ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
          พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานซึ่งประดิษฐานอัฐิธาตุของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และจัดแสดงอัฏฐบริขาร สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่าน อันเกิดจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่ออริยสงฆ์องค์นี้
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
  ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ

วันเสาร์, เมษายน 21, 2555

เรื่องเล่าระหว่างทางธุดงค์ของหลวงปู่ชา

เรื่องเล่าระหว่างทางธุดงค์ของหลวงปู่ชา

พระธุดงค์ : สู้ความกลัวในป่าช้า กล้านอนขวางทางเสือ

   ในระหว่างทางธุดงค์จาริก คราวหนึ่งท่านผ่านไปพักวิเวกอยู่ที่ป่าช้าวัดโปร่งคลอง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ชาวบ้านหามศพมาเผาใกล้ ๆ ที่ปักกลด ซึ่งทำให้พระชากลัวมาก ตกดึกคืนนั้นขณะทำความเพียรอยู่ภายในกลดก็ได้ยินเสียงเดินหนัก ๆ ตรงเข้ามาเหมือนจะเหยียบพระ มาหยุดอยู่ที่หน้ากลด แล้วรู้เหมือนมือที่ถูกไฟไหม้นั้นคว้าไปมาอยู่ตรงหน้า ท่านเล่าว่ากลัวจนไม่มีอะไรจะเปรียบ
   กลัวมากจนหมดความกลัว
   "ปานฝ่ามือกับหลังมือเราพลิกกลับ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมาก ๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ ใจมันสูงขึ้น สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ เปรียบไม่ถูก"
   แล้วลมฝนก็โหมกระหน่ำลงมาอย่างหนักจนท่านเปียกโชกไปหมด
   เช้ามาท่านลุกจากกลดออกไปปัสสาวะ ปรากฎว่าปัสสาวะออกมามีแต่เลือด เพราะปวดมาแต่กลางคืน
   ท่านตกใจว่าข้างในคงฉีกขาด แต่ก็ปลงใจว่า "ตายก็ตายช่างมัน จะทำอย่างไรได้ ตายก็ดี ตายเพราะบำเพ็ญอย่างนี้ ตายเพราะปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตายแล้ว"
   ต่อมาท่านธุดงค์ไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เห็นรอยทางเก่าก็นึกถึงคำสอนของคนโบราณที่ว่า เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า ก็อยากจะพิสูจน์ให้เห็นจริง จึงปักกลดขวางทางเก่า จากนั้นก็นอนตะแคงหไสยาสน์ภายในกลด หันหลังให้ป่า หันหน้าไปทางหมู่บ้าน
   ขณะที่กำลังนอนกำหนดลมหายใจอยู่ หูก็แว่วได้ยินเสียงใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ ๆ ใกล้เข้ามาจนได้ยินเสียงลมหายใจและกลิ่นสาบสางที่ฟุ้งกระจายมากับสายลม ท่านยังคงนอนนิ่งอยู่ทั้งที่รู้ดีว่าเสียงและกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นสัตว์อย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเสือ!
   จิตหนึ่งก็ห่วงชีวิตจนตัวสั่นหวั่นไหว แต่กลัวอยู่ไม่นาน จิตของนักต่อสู้ก็ออกมาแย้งและให้เหตุผลว่า
    อย่าห่วงมันเลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตายรอยพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอเป็นอาหารของเสือ หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา
   เสียงเสือหยุดลง ได้ยินเสียงลมหายใจอยู่ห่าง ๆ สักครู่มันก็หันหลังกลับ เดินเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรบหายเข้าป่าไป
    พระหนุ่มจึงได้คำตอบว่าทำไมคนโบราณจึงห้ามนอนขวางทางเก่า
     และได้ข้อคิดว่า เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต ปล่อยวางมันเสีย ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ทำให้เกิดความเบาสบาย สติปัญญาเฉียบคมขึ้นเป็นเงาตามตัว จิตเกิดความกล้าหาญไม่สะทกสะท้านสิ่งใด
   ยาวนานนับสิบพรรษากับการปฏิบัติธุดงค์กัมมัฎฐาน บำเพ็ญสมณธรรมขั้นอุกฤษฎ์ หลวงปู่ชามีข้อธรรมในการอบรมสั่งสอนศิษย์ในชั้นหลังว่า
   "ถ้าเราเรียนปริยัติ แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้รับผลเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยได้กินนมโคฉันนั้น"

โอวาทธรรมคำสอน จากหลวงปู่ชา สุภัทโท

โอวาทธรรมคำสอน จากหลวงปู่ชา สุภัทโท
พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555  สถานที่: พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง

     "ให้เลิกความรู้สึกรักและชังในบุคคลทั้งหลาย
 อย่าอยู่ด้วยความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
         รู้จักดีและชั่วแล้วเลิกยึดดียึดชั่วเสียด้วย"

พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง
 ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555  สถานที่: พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง

การนั่งสมาธิ นั่งให้ตัวตรง อย่าเงยหน้า
มากเกินไป อย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี
เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละมันจึงสว่างไสวดี
ครั้นจะเปลี่ยนอริยาบถก็ให้อดทนจนขีดสุดเสียก่อน
ปวดก็ให้ปวดไป อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า
"บ๊ะ ไม่ไหวแล้ว พักก่อนเถอะน่า"
อดทนมันจนปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้ว
ก็ให้ทนต่อไปอีก ทนต่อไป ๆ จนมันไม่มีแก่ใจ
จะว่า "พุทโธ" เมื่อไม่ "พุทโธ" ก็เอาตรงที่มันเจ็บ
นั้นแหละมาแทน "อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ ๆ หนอ"
เอาเจ็บนั้นมาเป็นอารมณ์แทน "พุทโธ" ก็ได้
กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ นั่งไปเรื่อย
ดูซิว่าเมื่อปวดจนถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านว่า มันเจ็บเอง มันก็หายเอง
ให้มันตายไป ก็อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตก
เม็ดโป้ง ๆ เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก
ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนาอันหนึ่งแล้ว
มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ ให้ค่อยทำไปเรื่อย ๆ
อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป

โอวาทธรรมคำสอน ทางไปนิพพาน หลวงปู่ชา

บอกทางไปนิพพาน จาก หลวงปู่ชา สุภัทโท
 ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555 ที่พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

        โอวาทธรรมคำสอนของท่านจำนวนหนึ่งได้รับการบันทึกเผยแผ่ต่อมาจนปัจจุบัน บางส่วนได้รับการถอดออกมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม มีแง่มุม สาระ และรสในทางธรรมหลากหลายกันไป กับหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่เล่าถึงชีวประวัติ ปฎิปทา และงานของท่านโดยตรง
        ให้ผู้ศึกษาได้อาศัยเป็นแนวทางในการมุ่งปฏิบัติของตนเอง
"ต้องค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเอาวันสองวันให้ได้ ต้องพากันพยายามทำไปเรื่อย ๆ คนอื่นบอกมันไม่รู้จัก จะต้องไปพบด้วยตัวเอง"
        และไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะเอา แต่เพื่อจะปล่อย
"เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะได้ เราปฏิบัติพื่อจะละ คือถ้าปฏิบัติเพื่ออยากได้นั่นอยากได้นี่ ความอยากนั้นย่อมพานักปฏิบัติไปสู่ภพสู่ชาติอยู่เรื่อยไป ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น"  โดยมีปลายทางอยู่ที่พระนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่จริงและเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันไม่ต้องรอชาติหน้าชาติไหน

        ดังที่หลวงปู่ชาสอนว่า
       "นิพพานก็อยู่กับวัฎฎสงสาร วัฎฎสงสารก็อยู่กับนิพพาน เหมือนกันกับความร้อนกับความเย็น มันก็อยู่ที่เดียวกันนั่นเอง ความร้อนก็อยู่ที่มันเย็น ความเย็นก็อยู่ที่มันร้อน เมื่อมันร้อนขึ้น มันก็หมดเย็น เมื่อมันหมดเย็นมันก็ร้อน"
        ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติของตัวเอง ตามคติธรรมของท่านที่ว่า
   "ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย"

ประวัติวัดหนองป่าพง หลวงพ่อชา สุภัทโท

  ประวัติวัดหนองป่าพง หลวงพ่อชา สุภัทโท
ภาพหน้าวัดหนองป่าพง
วัดหนองป่าพง
   ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555 วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
                     ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555 ที่พิพิธภัณฑ์ พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

       ...พระมีวัตร วัดมีพระ.....
       แต่เดิม "ดงป่าพง" ป่าดงดิบใกล้หมู่บ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงปู่ชา เป็นป่ารกชัฎไม่คอยมีใครกล้าย่างกราย เพราะเชื่อกันว่าเป็นป่าที่เจ้าที่แรง
      จนเมื่อหลวงปู่ชากลับจากการจาริกธุดงค์นานนับ ๑๐ พรรษา ท่านได้มาตั้งวัดหนองป่าพงในป่าแห่งนั้น ซึ่งคนมักเรียกกันติดปากว่า "วัดป่าพง"
ถือพระวินัยเคร่งครัด วัตรปฎิบัติงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา มีผู้มาขอบวชและขอเป็นลูกศิษย์มากขึ้นจนเกิดหมู่คณะที่เรียกว่า "คณะสงฆ์หนองป่าพง"
       หมู่ภิกษุเคารพกันตามอายุพรรษา ผู้จะมาบวชใหม่ต้องเป็นผ้าขาว ถือศีล ๘ อยู่ช่วงหนึ่งก่อน เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนตนเองก่อนเข้าสู่ชีวิตในเพศนักบวช จากนั้นจะได้รับการบวชเป็นสามเณรก่อนไม่ว่าผู้นั้นจะมีอายุเท่าใด เพื่อศึกษาพระวินัยและข้อวัตรที่พระวัดป่าต้องถือปฏิบัติ ไม่ให้ต้องผิดพลาดบกพร่อง เมื่อครูอาจารย์เห็นสมควรจึงจะอุปสมบทให้
      พระวัดหนองป่าพงถือความเป็นหมู่คณะ ไม่มีการเก็บสะสมของกินของใช้ไว้เป็นการเฉพาะตน แต่จะรวมไว้เป็นของส่วนกลาง ฉันพร้อมกันเลิกพร้อมกันวันละมื้อเดียว แล้วแยกกันไปบำเพ็ญเพียรตามลำพัง ถึงเวลาก็มารวมกันทำกิจวัตรที่ได้รับมอบหมาย กวาดลานวัด จัดเสนาสนะ ซ่อมแซมปัดกวาดศาลา โรงฉัน ตักน้ำใช้น้ำฉัน ฯลฯ
     กิจวัตรสำคัญที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ของวัดหนองป่าพงคือ การล้างเท้าครูบาอาจารย์เพื่อให้ศิษย์ได้ฝึกการละพยศ ลดทิฎฐิ และได้แสดงความกตัญญูรู้คุณ
      ร่มเงาของวัดหนองป่าพงยิ่งแผ่กว้าง เมื่อสาธุชนจากทุกสารทิศได้พบเห็นการปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสก็เกิดความศรัทธา ขอนิมนต์คณะสงฆ์หนองป่าพงให้ไปตั้งวัดในถิ่นฐานของตน เกิดวัดสาขาแผ่ขยายออกไปนับ ๑๐๐ สาขาในปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


Pages