วันศุกร์, สิงหาคม 15, 2557

มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร



มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร

     ....จำไม่ได้แล้วว่าได้ยินเรื่องของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรมาจากที่ใด แต่สาระของเรื่องนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในจิตใจและกลับมาให้แง่คิดในหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งนั่นมาพร้อมกับความสุขและความอิ่มใจ เรื่องราวของช้อนยาวหนึ่งเมตรนี้เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ในบางครั้งการจะทำอะไรให้สำเร็จ เราก็แค่เพียงตักอาหารที่ดีที่สุดแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงข้ามเรา แทนที่จะพยายามตักอาหารที่อร่อยที่สุด แล้วพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะป้อนใส่ปากเรา ทั้งทั้งที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรที่ใช้ตักอาหารนั้นไม่มีทางทำให้เราอิ่ม...
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ได้มีชายคนหนึ่งอยากรู้เหลือเกินว่า นรก กับ สวรรค์ ต่างกันอย่างไร ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่กำลังหลับได้มีเทวดาองค์หนึ่งพาเขาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนั้นงดงามจนสุดจะบรรยาย มีต้นไม้ร่มรื่น มีลมพัดเย็น ดูแล้วน่าจะเป็นสวรรค์มากกว่านรก เทวดาได้พาชายหนุ่มคนนั้นมาหยุดที่ห้องห้องหนึ่ง ภายในห้องนั้นประดับประดาไปด้วยอัญมณีและสิ่งของมีค่า กว้างขวาง โอ่อ่า ตรงกลางห้องมีโต๊ะกินข้าวกว้างประมาณหนึ่งเมตร มีผู้คนทั้งชายหญิงนั่งคละกันไปแต่แบ่งเป็นสองฝั่งแค่เงยหน้าทุกคนก็จะเห็นคนอีกฝั่งได้อย่างชัดเจน ตรงหน้าของแต่ละคนมีจานอาหารหนึ่งใบพร้อมด้วยอาหารรสเลิศที่ดูดีมีสีสันน่ากิน และอาหารแต่ละคนล้วนตักมาจนพูนจาน ทางด้านขวามือของแต่ละคนมีช้อนคนละหนึ่งคัน แต่...ช้อนนั้นมีความยาวประมาณหนึ่งเมตรและมีด้ามจับอยู่ตรงปลาย ชายหนุ่มสังเกตเห็นรูปร่างแต่ละคนในห้องนั้นล้วนผอมโซแล้ว ยิ่งทำให้เขาประหลาดใจนัก  เจ้ามาได้เวลาอาหารกลางวันพอดี กฎของที่นี่คือทุกคนต้องใช้ช้อนตักอาหารเท่านั้น และมีเวลากินเพียงสิบห้านาที เทวดากล่าว เริ่มได้.... สิ้นเสียงของคำพูด ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะกินข้าว ต่างก็รีบหยิบช้อนขึ้นมาตักอาหารอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความยาวของช้อน กว่าจะตักแล้วยื่นใส่ปาก ก็ลำบากมาก แถมกว่าจะส่งเข้าปาก อาหารนั้นก็หกหล่นตามพื้นเต็มไปหมดเนื่องจากมือที่สั่น  ที่เหลือติดช้อนนั้นก็มีเพียงนิดเดียว และยิ่งเวลากระชั้นชิดเข้ามา ทุกคนต่างก็ยิ่งรีบ ยิ่งรีบก็ยิ่งหก  นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ทุกคนที่นี่ล้วนดูอดอยากทั้งที่มีอาหารดี ๆ อยู่เต็มไปหมด ชายหนุ่มคิด...ก่อนจะเดินออกมาจนสังเกตเห็นประตูหน้าห้องที่เขียนว่า ...ห้องสำหรับคนตกนรก....
       ถัดจากห้องสำหรับคนตกนรกมาอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน มีป้ายติดไว้ว่า ...ห้องสำหรับคนขึ้นสวรรค์...  ห้องนี้จะเป็นอย่างไรกันนะ มันคงจะแตกต่างจากห้องนรกน่าดู    แต่เมื่อเทวดาเปิดประตูออกมา ก็ทำให้เขาประหลาดใจเพราะทุกอย่างในห้องล้วนเหมือนกันกับห้องที่เขาเพิ่งเดินออกมารวมทั้งกฏในการทานอาหาร จะแตกต่างกันก็แต่เพียง ผู้คนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนหน้าตาแจ่มใส ผิวพรรณผุดผ่อง พูดคุยกันราวกับเพื่อนสนิท ทำไมไม่เห็นหิวโซเหมือนห้องเมื่อกี้เลย ชายหนุ่มคิดในใจ
      เริ่มทานอาหารได้ เมื่อสิ้นเสียงทุกคนที่อยู่ในห้องนั้น ต่างก็ค่อย ๆ ใช้ช้อนยาวหนึ่งเมตรนั้นตักอาหารที่อยู่ตรงข้ามกับตนแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงกันข้าม ผลัดกันไปมาด้วยความเรียบร้อย โดยไม่มีอาหารตกหล่นและวุ่นวาย เพียงสิบนาทีทุกคนก็ได้กินอาหารจนอิ่ม .....
         ผมรู้แล้วว่านรกกับสวรรค์ต่างกันอย่างไร ชายหนุ่มกล่าวกับเทวดาในขณะที่เทวดาพาเขามาส่งยังห้องนอนของเขา

…..แล้วคุณล่ะ  รู้หรือยัง..?
.....สำหรับผมรู้เพียงว่าทุกคนจะมีความสุขถ้าเรารู้จักคำว่า แบ่งปัน

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 14, 2557

คำศัพท์ด้านทะเล



เพิ่มพูนคำศัพท์
คำศัพท์ด้านทะเล

Gravelly beach : ชายหาดที่มีแต่ก้อนกรวด                                        
Exposed sandbar : สันดอนทรายโล่งไม่มีที่กำบัง
Group of dolphins : ฝูงปลาโลมา
Lace-up sandal : รองเท้าแตะผูกเชือก
Scuba mask : หน้ากากดำน้ำ
One-piece swimsuit : ชุดว่ายน้ำชิ้นเดียว
Dig  for clams : ขุดหาหอยกาบ
Turn a boat’s stern : หันท้ายเรือ
Tread water : ลุยน้ำ
Sea cow : พยูน
Sea serpent : งูทะเล
Sea horse : ม้าน้ำ
Sail : แล่นเรือ
Splash : (น้ำ) กระเซ็น
Sink : จม
Of lighthouses : เกี่ยวกับประภาคาร
Of sand : เกี่ยวกับทราย
Of seas and oceans : เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทร
Polluted : มลพิษ
Pertaining to mollusks : เกี่ยวข้องกับสัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก
Along a seashore : ตามชายฝั่งทะเล
Tropical breeze : ลมอ่อน ๆ เขตร้อนชื้น
Floating seaweed : สาหร่ายทะเลที่ลอยอยู่ในน้ำ
Warming current : กระแสน้ำที่อุ่นขึ้น
Seasickness : เมาเรือ
Undertow : กระแสใต้น้ำ
Monster : สัตว์ประหลาด
Raise a mainsail : ยกใบเรือใหญ่ของเรือใบ
Move like waves : เคลื่อนไหวราวกับคลื่น
Skinny-dip : ว่ายน้ำแบบเปลือยกาย
Shell expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านหอย
Shark expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม
Erosion expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านการสึกกร่อน

ความแตกต่างของ Floatsam กับ Jetsam
Floatsam คือสิ่งของที่บังเอิญหลุดกระเด็นลอยน้ำออกมาหลังเรืออัปปาง
Jetsam คือสิ่งของที่ตั้งใจโยนออกมาเพื่อลดน้ำหนักกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจลอยมาเกยฝั่ง และสามารถอ้างสิทธิ์ได้ตามกฎหมายกรณีมีคนพบ

ที่มา : หนังสือ สรรสาระ (Reader’s Digest) ฉบับเดือนตุลาคม 2553 หน้าที่ 131

วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

ความเป็นมาของการกินเจ

กินเจสด รสธรรมชาติ

      ในเรื่องของการกินผัก นับเป็นความชาญฉลาดของอารยธรรมจีนที่กำหนดการกินเจปีละ 10 วันขึ้นมา คำว่า "เจ" แปลตรงตัวว่า "ผัก" คนจีนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าผักมีประโยชน์มากมายต่อร่างการย จึงต้องกำหนดให้คนเราอย่างน้อยต้องกินผักอย่างเต็มที่ปีละ 10 วัน ถึงแม้ว่าวัตรปฏิบัติดังกล่าวจะเจือปนด้วยความเชื่อ ความศรัทธาหรือใช้แนวคิดทางศาสนามาชี้นำก็ตามทีเถิด ในแต่ละวันคนเราอาจจะเผลอไม่กินผักบ้าง แต่สำหรับฤดูกาลกินเจ คนจีนโบราณต่างละเลิกเนื้อสัตว์ เลิกอาหารกลิ่นฉุน หันมากินผักกันถ้วนหน้า
       สำหรับความเป็นมาของการกินเจ มีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนคนจีนเคารพนับถือเชื้อพระวงศ์ผู้วิเศษซึ่งเป็นพี่น้องกันอยู่ 9 องค์ เมื่อทั้งหมดตายลง ต่างก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ หรือดาวที่อยู่เรียงกัน 9 ดวง คือดาวจระเข้ เทพทั้งเก้าเป็นผู้ถือบัญชีอายุขัยของคนบนโลกนี้ และสามารถต่ออายุของคนเราให้ได้ คนจีนเชื่อว่า ระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 ทวยเทพทั้งเก้าจะตรวจสอบบันทึกนี้ และจะบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละบุคคล ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สมควรที่ชาวโลกจะต้องประกอบกรรมดี ทำตัวดี ๆ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเลิกอาหารคาว ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ หันมาถือศีลกินเจ หรือกินผัก ทำเช่นนี้จะรอดพ้นจากการตรวจสอบ จึงจะมีอายุยืนยาว
        เห็นหรือยังว่าการกินเจนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมีสุขภาพดี และความมีอายุยืนยาว ขนาดคนจีนยังให้อรรถาธิบายเอาไว้เช่นนั้น ก่อนที่องค์การอนามันโลกจะประกาศให้กินผัก นับเป็นพัน ๆ ปีเลยทีเดียว
        แต่ก็ยังมีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับการกินเจสำนวนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน การกินเจเริ่มต้นตามวันทางจันทรคติของจีน คือเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน  สำหรับการกินเจจริง ๆ นั้น จะห้ามทานเนื้อสัตว์ทุกประเภทและรวมถึงห้ามพืชกลิ่นแรง 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม (รวมผักชี) หลักเกียว กู๋ไช่ และยาสูบ เพราะคนจีนเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมามีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ ทำให้จิตใจเร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย ทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวกันไม่ติด จึงถือเอาว่ามันเป็นสารพิษที่จะไปทำลายพลังธาตุทั้งห้าของร่างกาย ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงสมควรหลีกเลี่ยงในระยะถือศีลกินเจ
       อย่างไรก็ตามหากจะผสมผสานแนวคิดแบบจีนโบราณกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่ เอาเป็นว่าในฤดูกาลกินเจ หันมากินผักสดและผลไม้สดเป็นหลัก ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้น้อยที่สุด ให้เจของคุณเป็นเจสดรสธรรมชาติก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณมากกว่า
       แต่อย่าลืมว่า สมัยก่อนการกินเจแค่ปีละ 10 วัน อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ยังสะอาดบริสุทธิ์อยู่....แค่นั้นคนโบราณก็ฟื้นสุขภาพของตนได้แล้ว แต่สมัยนี้โลกของเราเต็มไปด้วยมลพิษและสารเคมีสารพัด เราอาจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กินผัก ผลไม้ ซึ่งต้องเน้นคำว่า "สด" ด้วย และย้ำอีกว่า ต้องกินทุกวัน วันละประมาณ 500 กรัม นั่นแหละเราจึงจะมีสุขภาพดี



ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 68 :พญ.ลลิตา ธีระสิริ คอลัมม์ เพื่อชีวิตและสุขภาพ

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

Pages