แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สาระน่ารู้ของประเทศไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สาระน่ารู้ของประเทศไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์, เมษายน 19, 2564

สรุปสาระสําคัญ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒


สรุปสาระสําคัญ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒

•••••••••••••••••••••••••••••••

๑. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้

โดยที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทําให้บทบัญญัติบางประการและมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้อง กับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะใช้เป็นเครื่องมือหรือเอื้ออํานวยต่อการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลรักษา ฟื้นฟู สัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสัตว์ป่าและพืชป่าซึ่งมีผลทําให้ต้องปฏิบัติ ตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว เพื่อจัดให้มีมาตรการในการควบคุมการครอบครอง การค้า การนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ตลอดจน การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 ๒. สาระสําคัญ

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ มีจํานวน ๑๒๑ มาตรา แบ่งออกเป็น ๙ หมวด ได้แก่ หมวด ๑ สัตว์ป่า (มาตรา ๖ - มาตรา ๓๒) หมวด ๒ สวนสัตว์ (มาตรา ๓๒ - ๓๘) หมวด ๓ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (มาตรา ๓๙ - มาตรา ๔๖) หมวด ๔ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (มาตรา ๔๗ – ๕๗) หมวด ๕ เงินค่าบริการหรือเงินค่าตอบแทน (มาตรา ๕๘ – ๒๑) หมวด ๖ เขตห้ามล่า สัตว์ป่า (มาตรา ๖๒ – ๗๐) หมวด ๗ การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (มาตรา ๗๑) หมวด ๘ การควบคุมและพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๗๒ - ๔๖) หมวด ๔ บทกําหนดโทษ (มาตรา ๘๗ - ๑๑๐) และบทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๑๑ - ๑๒๑) โดยมีรายละเอียดที่สําคัญสรุปได้ ดังนี้

 

บทนิยาม (มาตรา ๔) กําหนดบทนิยามเพื่ออธิบายความหมายถ้อยคําที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น

“สัตว์ป่า” หมายความว่า สัตว์ทุกชนิดซึ่งโดยทั่วไปย่อมเกิดและดํารงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ อย่างเป็นอิสระ และให้หมายความรวมถึงไข่และตัวอ่อนของสัตว์เหล่านั้นด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึง สัตว์พาหนะตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ สัตว์ซึ่งได้รับการยอมรับในทางวิชาการว่าสายพันธุ์นั้น เป็นสัตว์บ้านไม่ใช่สัตว์ป่า และสัตว์ที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์ดังกล่าว

“ซากสัตว์ป่า” หมายความว่า ร่างกาย หรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้วหรือเนื้อ ของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ต้ม รม ย่าง ตากแห้ง หมัก ดอง หรือทําอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และไม่ว่าจะ ชําแหละ แยกออก หรืออยู่ร่างของสัตว์ป่านั้น และให้หมายความรวมถึงเขา หนัง กระดูก กะโหลก ฟัน งา ขนาย นอ ขน เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือก เลือด น้ําเหลือง น้ําเชื้อ หรือส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่าที่แยกออกจาก ร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายแล้ว

“ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า” ให้หมายความรวมถึงอนุพันธ์หรือสิ่งอื่นใดที่ได้มาจากสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าที่ตรวจสอบหรือจําแนกได้โดยเอกสารกํากับ บรรจุภัณฑ์ เครื่องหมาย ฉลาก หรืออื่น ๆ ว่าเป็นของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

“เพาะพันธุ์” หมายความว่า ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่นํามาเลี้ยงโดยวิธีผสมพันธุ์ และให้ หมายความรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์ป่าด้วยวิธีผสมเทียม ย้ายฝากตัวอ่อน หรือโดยวิธีการอื่นใดซึ่งมีวัตถุประสงค์ ในการเพิ่มจํานวนสัตว์ป่าดังกล่าว

 “ค้า” หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จําหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ จากซากสัตว์ป่าเพื่อการค้า การประกาศหรือโฆษณาหรือนําเสนอทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่อใด ๆ เพื่อการค้าด้วย

วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2561

เพลงชาติไทยมีคําว่าไทยกี่คํา

เพลงชาติไทยมีคําว่าไทยกี่คํา
     ทุก ๆ เช้าก่อนเข้าห้องเรียน นักเรียนประถมทุกชั้น จะยืนเรียงแถวหน้าเสาธง นักเรียนที่ตัวเล็กสุดของชั้นจะยืนอยู่ด้านหน้า แล้วไล่เรียงลำดับความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนปลายแถว
     บางครั้งครูจะให้นักเรียนทุกคนนั่งลง เพื่อให้เราคุณครูที่ยืนพูดอยู่หน้าเสาธงได้ถนัด เรื่องที่พูดคุยก็เป็นเรื่องทั่วไป การรักษาความสะอาด การมาสาย แล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีเรื่องอะไรน่าสนในอยู่ บางครั้งคุณครูพูดนานเกินไปจนพวกเราร้อนกันไปหมด ยกเว้นในฤดูหนาวที่พวกเราอยากจะนั่งฟังคุณครูพูดนาน ๆ 
     ทุกเช้าของโรงเรียนที่ผู้เขียนเคยเรียนเมื่อตอนเด็ก ช่วงเช้าบางวันก็เป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับเด็ก ๆ อย่างเรา เพราะหากมีคนโดดเรียน แกล้งเพื่อน หรือทำผิดบางอย่าง ก็จะถูกเรียกมายืนให้คุณครูตีก้นหน้าเสาธง ทั้งเจ็บทั้งอายเด็กนักเรียนหญิง นี่แหละเป็นสิ่งหนึ่งที่บางวันเราไม่อยากจะไปโรงเรียน หลังจากนั้นเราก็จะร้องเพลงชาติกัน ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนใฝ่ฝันอยากจะเป็นคนยืนเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา เพราะจะเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่ง กับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งทำหน้าที่ทุกวัน บางครั้งก็เปลี่ยนคน แต่ก็จะมีอยู่ไม่กี่คนที่เวียนซ้ำ ๆ กัน 
     การค่อย ๆ เชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาพร้อม ๆ กับธงที่สุดพอดีกลับเพลงที่ร้องจนจบ เป็นอะไรที่เครียดมากสำหรับเด็ก ๆ เพราะเมื่อเราไปยืนอยู่ใต้เสาธงจริง ๆ เราจะมองไม่ค่อยเห็นว่าธงขึ้นถึงระดับไหนแล้ว ต้องกะ ๆ เอา บางครั้งเพลงชาติร้องจบแล้ว แต่ธงยังไม่ถึงยอดเสาก็มี ในบางวันเมื่อมีเหตุการณ์ไว้อาลัยต่าง ๆ คุณครูก็จะให้เราเชิญธงเพียงแต่ครึ่งเสาเท่านั้น 
     คำถามที่สะกิดใจเมื่อเราโตขึ้นก็คือ เราร้องเพลงชาติไทยมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เราส่วนใหญ่ก็ไม่เคยนับกันสักทีว่า เพลงชาติไทย มีคำว่าไทยกี่คำ ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามาช่วยกันนับพร้อมกันดีกว่า ว่าเพลงชาติไทยที่เราร้องกันอยู่ทุกวัน ฟังกันทุกแปดโมงเช้า และ หกโมงเย็น มีคำว่าไทยกี่คำกันแน่
    ผู้เขียนได้ทำการมาร์คสีแดงในส่วนที่เป็นคำว่าไทย ในเนื้อเพลงชาติไทยเพื่อที่จะได้นับกันง่าย ๆ สรุปออกมาแล้วว่าเพลงชาติไทยมีคำว่าไทยทั้งหมด 6 คำ ส่วนสำหรับบางคนอาจจะแย้งว่า คำว่า "ผไท" ก็ออกเสียงคำว่า "ไทย" เหมือนกันนะ ประเด็นนี้ผู้เขียนก็เห็นด้วย ดังนั้นจึงขอสรุปง่าย ๆ ดังนี้
       เพลงชาติไทยมีคำที่เขียนว่า "ไทย" ทั้งหมด 6 คำ
       เพลงชาติไทยมีคำที่ออกเสียงคำว่า "ไทย" ทั้งหมด 7 คำ โดยรวมคำว่า "ผไท" ไว้ด้วย
ส่วนผู้อ่านจะคิดว่ามีกี่คำก็สุดแล้วแต่ว่าชอบแบบไหนนะครับ
      
   ประวัติเพลงชาติไทยโดยย่อ 
          ในหลากหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีเพลงประจำชาติเป็นของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่ก็มี เพลงชาติไทยมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในสมัยที่ชาติสยามยังปกครองด้วยระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงเพื่อถวายความเคารพกษัตริย์ต่างชาติที่เสด็จเยี่ยมประเทศสยามตามธรรมเนียมสากล จนมาถึงปีพุทธศักราช 2482 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยามเป็น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพลงประจำชาติไทยใหม่ โดยเปิดให้มีการส่งเนื้อเพลงชาติเข้าประกวด มีหลักการอยู่ว่าต้องแต่งให้เข้าทำนองของเพลงชาติฉบับเดิม ซึ่งในการยื่นประกวดแต่งเนื้อร้องครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดคณะกรรมการได้ตัดสินคัดเลือกเนื้อร้องของ หลวงสารานุประพันธ์นำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัย ไม่นานจึงมีมติรับเนื้อเพลงใหม่นี้ และได้รับแก้ไขบ้างในบางช่วงตามความเหมาะสม
ในวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2482 รัฐบาลได้ออกประกาศ รัฐนิยมฉบับที่ 6” ให้ใช้ทำนองเพลงชาติของ พระเจนดุริยางค์ ตามแบบฉบับเดิมที่กรมศิลปากร ส่วนเนื้อร้องให้ใช้ของ หลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งประพันธ์ทั้งหมดขึ้นใหม่ในนามของ กองทัพบกจึงกลายมาเป็นแบบฉบับที่เราได้ฟัง ได้ร้องกันอยู่ในทุกวันนี้ ..
เพลงชาติไทย
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงค งไว้ได้ทั้งมวล

ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี

เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย


ที่มาเนื้อหาบางส่วน : http://campus.sanook.com/1380493/

วันอาทิตย์, เมษายน 29, 2561

ประวัติเงินตราของประเทศไทย


ประวัติเงินตราของประเทศไทย

          ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น สำหรับชนชาติไทยสันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะเงินมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เรียกกันว่า เงินพดด้วง ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เองเป็นเวลาหลายร้อยปีจวบจนมีการนำเงินเหรียญตามแบบสากลเข้ามาใช้

เงินตราคืออะไร
     เงินตรา คือ วัตถุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย เป็นตัวแทนการวัดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เงินตราในอดีตเริ่มจากการใช้เปลือกหอย อัญมณี และพัฒนามาเป็นโลหะ จนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร

เงินตราฟูนัน
         อาณาจักรฟูนันก่อตัวขึ้นบริเวณทางใต้ของลุ่มน้ำโขง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 และล่มสลายลงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จากการโจมตีของพวกเจนละ อาณาจักรฟูนันได้รับอารยธรรมด้านการปกครองโดยกษัตริย์และการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดีย เงินตราที่ใช้จะมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนา โดยมีลักษณะเป็นรูปพระศรีวัตสะ กลองบัณเฑาะว์ที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่าง ๆ และมี เครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งหมายถึงความโชคดี

เงินตรา ทวารวดี
         อาณาจักรทวารวดีเริ่มมีความสำคัญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม การปกครองยังคงอยู่ในระบบกษัตริย์ ประชาขนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เงินตราที่พบยังคงมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์และศาสนา เช่น เหรียญเงินด้านหนึ่ง เป็นรูปบูรณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านเป็นภาษาสันสกฤตราณ อ่านว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” เป็นต้น

เงินตรา ศรีวิชัย
          ประมาณพุทธศตวรรษที่  13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้นส่งผลให้เมืองที่อู่บนคาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและอินเดีย ทางฝั่งตะวันตก และสินค้าจากจีน ขอม ทวารวดี ทางฝั่งตะวันออก มีความสำคัญขึ้นเช่นกัน จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตรา ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย การปกครองได้ใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เงินตราที่ใช้ทำด้วยเงินและองคำ มี 2 ชนิด คือ “เงินดอกจัน” ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉก อีกก้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ” เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” ด้านหนึ่งมีร่องเล็ก ๆ คล้ายเล็ดกาแฟอีกด้านหนึ่ง เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ น “ ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “ น “ ว่า “เงินนโม” อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงในพุทธศตวรรษที่ 18

เงินตราสุโขทัย
         ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยถือกำเนิดขึ้น ได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ โดยที่ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง นอกจากนี้ยังใช้ “เบี้ย” เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำ
 เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน (Bullet Money) เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลก ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2  ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

เงินตราสมัยกรุงศรีอยุธยา
         ในสมัยนี้ยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตรา แต่หลวงผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงในสมัยนี้ คล้ายเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย แต่ตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่เป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น


เงินตราสมัยกรุงธนบุรี
         ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่ามีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เพียง 2 ชนิด คือ เงินพดด้วงตราตรีศุลและตราทวิวุธ

เงินตราสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
         ในปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้าม คือ กรุงเทพมหานคร และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เงินตราที่ใช้ในยุคต้น ๆ ยังคงใช้เงินพดด้วง โดยที่ตราประทับบนเงินพดด้วงคือตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาล ซึ่งได้แก่
         รัชกาลที่ ๑ ตราบัวอุณาโลม
         รัชกาลที่ ๒ ตราครุฑ
         รัชกาลที่ ๓ ตราปราสาท
         รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ
         รัชกาลที่ ๕ ตราพระเกี้ยว

สมัยรัชกาลที่ ๑
      เงินพดด้วงในรัชกาลนี้ เดิมประทับตราจักร และตราตรีศูล แต่หลังจากบรมราชาภิเษกแล้ว ได้โปรดเกล้า ให้ผลิตเงินพดด้วงประจำรัชกาลแล้วประทับตราพระแสงจักร-บัวอุณาโลม

สมัยรัชกาลที่ ๒
      ตราที่ประทับบนเงินพดด้วง คือ ตราจักรและตราครุฑ สันนิษฐานว่าตราครุฑ มาจากพระนามเดิมของรัชกาลที่ ๒ คือ “ฉิม” ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ


สมัยรัชกาลที่ ๓
      ตราปราสาทเป็นตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๓ ผลิตเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในปี พ.ศ.2367 นอกจากนี้ยังมีการผลิตเงินพดด้วงเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญ ๆ ประทับตราต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ครุฑ เสี้ยว ใบมะตูม และเฉลว เป็นต้น  ส่วนการจัดทำเงินเหรียญขึ้นใช้ตามแบบสากลนิยมนั้น มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้า สั่งจัดทำตัวอย่างเหรียญทองแดงส่งเข้ามา แต่ยังไม่โปรดเกล้า ให้นำออกใช้

สมัยรัชกาลที่ ๔
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้น และได้นำเงินเหรียญของจนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วง เป็นเงินเหรียญ 
       ในปี พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้า ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “ เหรียญเงินบรรณาการ”
         ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี พ.ศ.2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “ โรงกระสาปณ์สิทธิการ” ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้า ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2447 เป็นต้นมา

สมัยรัชกาลที่ ๕
       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ปรับปรุงใหม่โดยใช้หน่วยเป็น บาทและสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

สมัยรัชกาลที่ ๖
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์ ,และ 1 สตางค์ ในช่วงต้นรัชกาบยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในปี พ.ศ.2456 จึงโปรดเกล้าให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล  เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต


สมัยรัชกาลที่ ๗
        ในรัชกาลนี้มีการผลิตเหรียญหมุนเวียนออกใช้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่นำออกใช้เป็นเหรียญชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตราพระบรมรูป-ช้างทรงเครื่อง


สมัยรัชกาลที่ ๘
           เหรียญประจำรัชกาลที่ผลิตออกใช้หมุนเวียน เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-พระครุฑพ่าห์ ชนิดราคา 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, และ 5 สตางค์ ซึ่งมี 2 รุ่น คือ รุ่นแรกมีพระบรมรูปเมื่อครั้นเจริญพระชนมพรรษา


สมัยรัชกาลที่ ๙
          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในรัชกาลนี้ มี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์, 5 สตางค์, 10 สตางค์, 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 5 บาท และ 10 บาท
            นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผลิตทั้งเหรียญประเภทธรรมดาและเหรียญประเภทขัดเงา

Pages