บอระเพ็ดยาขมของคนไทยเถาบอระเพ็ด
หลายคนคงเคยได้ยินที่เราชอบพูดติดปากกันมาว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" นึกถึงคำๆ นี้ ส่วนใหญ่ชื่อบอระเพ็ดมักจะผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของใครหลายๆ คน แต่สำหรับยุคใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ "หวานเป็นลม ขมเป็นคนพาหวานไปหาหมอ" ก็แล้วแต่ความเปลี่ยนแปลงของข้อความ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ "ขมเป็นบอระเพ็ด" สำหรับสมุนไพรที่มีรสขมและทำให้เราจำได้ เท่าที่ผมนึกถึงได้ตอนนี้มีสองชนิด นั่นคือ บอระเพ็ดกับฟ้าทะลายโจร ซึ่งแบบหลังผมค่อนข้างคิดว่ามันขมกว่าบอระเพ็ดและติดปากนานกว่า ในโรงเรียนต่างจังหวัดสมัยก่อนยังมีการลงโทษให้อมบอระเพ็ดหากใครทำผิด ทำให้หลายๆ คนขยาดกับการต้องอมของขม ซึ่งในปัจจุบันสิ่งที่แก้ความขมของบอระเพ็ดให้น้อยลงไปก็คือ มะเขือพวง โดยการกินมะเขือพวงก่อนแล้วค่อยเคี้ยวบอระเพ็ด แต่ความรู้ตอนนี้ก็คงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขความขมในอดีตได้อีกแล้ว
บอระเพ็ดสมุนไพรฤทธิ์เย็น
นอกจากความขมที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์อะไรแล้วนอกจากทำให้หลาบจำ แต่ใครจะรู้ว่าประโยชน์ของบอระเพ็ดนั้นมีความขมที่ช่วยดับพิษร้อน เช่น พิษจากไข้ได้ดี ในสรรพคุณของยาสมุนไพรไทยบอระเพ็ดมีรสขมเย็น และยังมีเรื่องเล่าอีกว่าเป็นยาอายุวัฒนะ หากเราได้อ่านประวัฒิพระเกจิอาจารย์ในสมัยก่อน ท่านมักจะเคี้ยวบอระเพ็ดเป็นประจำ หากใครตัวร้อน เป็นไข้ หากสามารถหาบอระเพ็ดได้หรือสามารถหามาปลูกได้แนะนำให้ลองตัดมาต้มแล้วดื่มน้ำดู ความร้อนจะลดลง สำหรับยาไทยส่วนใหญ่ถ้าเป็นยาต้มมักจะต้มน้ำสามส่วนให้เหลือเพียงหนึ่งส่วน และใส่เพียงท่วมตัวยา ขนาดการดื่มนั้นแล้วแต่ว่าคนไข้อายุเท่าไร น้ำหนักและส่วนสูงเท่าใด และธาตุแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่ได้เจาะลึกขนาดนั้นก็แนะนำให้ใช้ประมาณหนึ่งรอบศรีษะ คือใช้เถาพันรอบศรีษะของคนป่วย ได้หนึ่งรอบเท่าใดให้ตัดและนำมาต้มเท่านั้น และดื่มเพียงแต่น้อยๆ ก่อน ถ้าอาการดีขึ้นให้ดื่มทุกๆ 4 ชั่วโมง เพราะยาสมุนไพรส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้าเพราะประกอบด้วยส่วนประกอบทางตัวยาหลายอย่าง ไม่ได้สกัดเป็นยาเดี่ยวเหมือนยาฝรั่ง แต่ข้อดีก็คือ พืชสมุนไพรนั้นได้มาจากธรรมชาติ ผลข้างเคียงต่ออวัยวะภายในของเราจะน้อยกว่าหรือแทบไม่มีเลย (หากต้องการใช้เพื่อเป็นยา แนะนำให้ศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก่อนหลาย ๆ แหล่ง)
บอระเพ็ดมีกี่ชนิด
บอระเพ็ดที่เราเห็นส่วนใหญ่จะเป็นตะปุ่มตะป่ำ เลื้อยพันต้นไม้ใหญ่ เถาบอระเพ็ดชนิดนี้โบราณเรียกบอระเพ็ดตัวเมีย ส่วนอีกชนิดนึงต้นและใบจะคล้ายคลึงกันแต่จะไม่มีตะปุ่มตะป่ำโบราณเรียกบอระเพ็ดตัวผู้หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เถาชิงช้าชาลี ทางสรรพคุณยาใช้แทนกันได้ แต่ฤทธิ์ของตัวผู้จะน้อยกว่าทำให้ต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าหากต้องการใช้ในทางสมุนไพร ยอดอ่อนของต้นบอระเพ็ด
อนาคตของบอระเพ็ด
นับวันป่าเมืองไทยยิ่งลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จากของป่ากลายเป็นของหายาก แล้ววันหนึ่งก็อาจจะเลือนหายไปเหลือเพียงแต่ชื่อเท่าน้้น บอระเพ็ดอาจจะเหลือเพียงแค่ชื่อที่ไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตา และความขมที่ไม่มีใครนึกออก ยาสมุนไพรไทยไม่ได้ช่วยชีวิตเราเท่านั้นแต่เมื่อเราได้ใช้และรู้จักอย่างจริงจัง เราจะเริ่มอนุรักษ์และช่วยกันแพร่พันธุ์ออกไป เพราะเรารู้แล้วว่ามันมีประโยชน์อย่างไร