วันจันทร์, เมษายน 19, 2564

หมวด ๒ สวนสัตว์

หมวด ๒ สวนสัตว์

 กระบวนการขอจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ และมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์

๑) การจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี โดยยื่นเอกสาร โครงการจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ บัญชีรายการชนิดและจํานวนสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าที่มีหรือจะมี ไว้ในครอบครอง หลักฐานแสดงการได้มาซึ่งสัตว์ป่าดังกล่าว พร้อมด้วยแผนที่แบบแปลน และแผนผังของสวนสัตว์ โดยโครงการจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ และแบบแปลนและแผนผังของสวนสัตว์ต้องเป็นไปตาม มาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ที่อธิบดีกําหนด ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าโครงการจัดตั้งและประกอบ กิจการสวนสัตว์ และแบบแปลนนั้นถูกต้องแล้ว ให้ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขออนุญาต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป (มาตรา ๓๓)

มาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ อย่างน้อยต้องมีสาระสําคัญ ดังต่อไปนี้ (๑) การจัดการพื้นที่เลี้ยงและจัดแสดงสัตว์ (๒) การดูแลด้านโภชนาการ (๓) การสุขาภิบาล การบําบัดน้ําเสีย การกําจัดของเสีย และการควบคุมโรค (๔) การดูแลรักษาสัตว์ (๕) การจัดสวัสดิภาพสัตว์ (๖) ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (๗) การปฏิบัติการและมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ (๘) แนวทางการให้ความรู้หรือการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์

๒) ในระหว่างการก่อสร้างสวนสัตว์ หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งสวนสัตว์นั้นตั้งอยู่ พบว่าการก่อสร้างไม่เป็นไปตามโครงการจัดตั้ง และประกอบกิจการสวนสัตว์ แบบแปลน และแผนผังที่ได้ยื่นประกอบการขอรับใบอนุญาต ให้กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี สั่งให้ผู้ขอรับ ใบอนุญาตแก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตดําเนินการเสร็จแล้ว ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องต่อไป ก่อนการเปิดให้บริการสวนสัตว์ ให้ผู้ขอรับ ใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการจัดตั้งสวนสัตว์ และแจ้งผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ขอรับใบอนุญาต หากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ดําเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าอธิบดีมีคําสั่ง อนุญาตตามคําขอและต้องออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น (มาตรา ๓๔)

การควบคุมดูแลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ในระหว่างประกอบ กิจการสวนสัตว์

๑) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง ควบคุมให้ผู้รับใบอนุญาต จัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ หากตรวจสอบพบว่า ผู้รับใบอนุญาตไม่ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ หรือบริเวณภายในสวนสัตว์มีสภาพ ที่เป็นอันตรายหรือเดือดร้อนรําคาญแก่ประชาชนหรือก่อให้เกิดอันตรายหรือความทุกข์ทรมานแก่สัตว์ป่า ให้อธิบดีมีอํานาจออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตปรับปรุงแก้ไขสภาพนั้นให้หมดไป ในกรณีสัตว์ป่า ที่อยู่ในครอบครองมีจํานวนเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างสวนสัตว์ ให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่แจ้งต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุญาตก่อนจึงจะดําเนินการได้ (มาตรา ๓๕)

๒) กรณีการประกอบกิจการสวนสัตว์แห่งใดได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ และผู้ได้รับใบอนุญาตถูกคําสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตฉบับใดฉบับหนึ่ง ให้มีผลเป็นการระงับการประกอบ กิจการสวนสัตว์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ดําเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามที่อธิบดีกําหนด หรือให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตอีกฉบับหนึ่ง แล้วแต่กรณี (มาตรา ๓๖)

๓) การเลิกประกอบกิจการสวนสัตว์ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ แห่งใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการ ให้แจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนวันเลิกกิจการ ตามระเบียบที่อธิบดีกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และให้นําความใน มาตรา ๗๙ มาใช้บังคับแก่การดําเนินการกับสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าที่อยู่ในความครอบครองของผู้เลิกประกอบ กิจการสวนสัตว์ตามใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์แห่งนั้นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วัน เลิกประกอบกิจการสวนสัตว์ โดยอนุโลม (มาตรา ๓๗)

๔) การดําเนินกิจการสวนสัตว์ที่หน่วยงานรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าว แจ้งการจัดตั้งสวนสัตว์ต่ออธิบดีเพื่อให้มีการตรวจสอบก่อนการเปิดให้บริการสวนสัตว์ หากพบว่าการจัดตั้ง สวนสัตว์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งหน่วยงานของรัฐแก้ไข หรือปรับปรุงภายในระยะเวลาที่กําหนด และเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน การจัดการสวนสัตว์แล้ว ให้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจการสวนสัตว์ได้ และเพื่อประโยชน์ ในการควบคุมและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้สวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัตินี้ และจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าที่อยู่ในความครอบครองให้กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมประมง ทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (มาตรา ๓๘)

 

การนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า

 การนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านซึ่งสัตว์ป่า และด่านตรวจสัตว์ป่า

๑) ห้ามมิให้ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จาก ซากสัตว์ป่าสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี และเป็นการกระทําเพื่อกิจการสวนสัตว์ของผู้รับใบอนุญาต จัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ตามมาตรา ๓๓ หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ (มาตรา ๒๒)

๒) การนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ของซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี เว้นแต่เป็น ของใช้สอยส่วนตัวตามชนิด ประเภท และจํานวนที่อธิบดีกําหนด และการนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง จะกระทําได้เฉพาะกิจการสวนสัตว์ของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการ สวนสัตว์ตามมาตรา ๓๓ หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่เท่านั้น (มาตรา ๒๓)

๓) การส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่มิใช่สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าควบคุม จะต้องมีใบรับรองการส่งออกตามความต้องการของประเทศปลายทาง หรือผู้นําเข้าหรือผู้ส่งออกผู้ใดประสงค์จะได้ใบรับรองการนําเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ จากซากสัตว์ป่า อาจยื่นคําขอรับใบรับรองการนําเข้าหรือส่งออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ (มาตรา ๒๔)

๔) การนําผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องแจ้งการนําผ่านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจํา ด่านตรวจสัตว์ป่า รวมทั้งกําหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว เมื่อมีการนําเข้าหรือส่งออกแล้วให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจําด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาต นําเข้าหรือส่งออก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วจึงให้นําเคลื่อนที่ต่อไปได้ (มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๗)

๕) การตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าและเขตความรับผิดชอบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด (มาตรา ๒๖)

 

การดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และการค้าสัตว์ป่า

๑) การดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ตามมาตรา ๘ หรือสัตว์ป่า ควบคุมตามมาตรา ๙ เฉพาะชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี (มาตรา ๒๘)

๒) ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซาก สัตว์ป่าดังกล่าว (มาตรา ๒๙)

๓) การค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ตามมาตรา 4 สัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา ๙ เฉพาะชนิด ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาต จากอธิบดี และในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ ประสงค์จะค้าสัตว์ป่า ดังกล่าวไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าตามมาตรา ๓๐ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของผู้รับใบอนุญาตค้า ที่กําหนดในกฎกระทรวง หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ถือเป็นเหตุพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ ด้วย (มาตรา ๓๐)

๔) กําหนดบทบัญญัติรองรับให้กรณีที่มีการออกประกาศกําหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้อง ขอรับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๘ หรือขอใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าตามมาตรา ๓๐ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกําหนดระยะเวลาให้ผู้ดําเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ควบคุม หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ประกาศกําหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมจะมีผลใช้บังคับ ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตดําเนินกิจการเพาะพันธุ์ หรือยื่นคําของรับใบอนุญาตค้าแล้วแต่กรณี (มาตรา ๓๑)

 

การดําเนินการต่อสัตว์ป่าอันตรายและซากสัตว์ป่าอันตราย

๑) สัตว์ป่าอันตราย เป็นสัตว์ป่าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อมนุษย์หรือสัตว์ป่าอื่น หรือมีผลคุกคามให้สัตว์ป่า พืชป่า สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ เปลี่ยนแปลงเสียหายอย่างรวดเร็ว หรือเป็น พาหะนําโรคหรือแมลงศัตรูพืช (มาตรา ๔)

การกําหนดให้สัตว์ป่า ชนิด ประเภท หรือจํานวนใด เป็นสัตว์ป่าอันตรายให้กําหนด โดยประกาศของรัฐมนตรี (มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง)

๒) ผู้ใดมีสัตว์ป่าอันตรายหรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวไว้ในครอบครองต้องแจ้งต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมสัตว์ป่าอันตรายหรือซากสัตว์ป่าอันตรายตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด กรณีมีความจําเป็นเพื่อคุ้มครองมนุษย์ สัตว์ป่า พืชป่า สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจมีคําสั่งให้ผู้ครอบครองกําจัด หรือทําลายสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่านั้น หรือส่งมอบสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่านั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกําจัด หรือทําลายต่อไปโดยเร็ว (มาตรา ๓๒ วรรคสอง)

Pages