วันศุกร์, พฤษภาคม 11, 2561

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคต่อ)

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคต่อ)    

การเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างภายในตู้เย็น (ภาคต่อ)



ขนาดหลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED เทียบขนาดกับ หลอดไส้
ขนาดหลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED เทียบขนาดกับ หลอดไส้

      หลังจากลองนั่งคิดสักพักหนึ่ง ก็เลยลองไปหาข้อมูลต่อว่ามีหลอดใดที่จะนำมาเปลี่ยนแทนหลอดเดิมได้บ้าง ขนาดหลอดไฟนี่รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นหลอดที่อายุการใช้งานยาวนานกว่านี้ล่ะ จะมีมั๊ย และที่สำคัญมันน่าจะประหยัดไฟหน่อยนะ (จริง ๆ  มันก็ไม่น่าเปลืองไฟหรอกนะ เพราะใช้กระแสแค่ตอนเปิดตู้เย็นเท่านั้น )
การใส่หลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED
การใส่หลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED
       ลองเข้าไปดู Aliexpress ลองค้นหาคำว่า หลอด E14 ส่วนใหญ่ก็จะโชว์หลอด LED ซะส่วนใหญ่ มีเทียบให้ดูด้วยว่าความสว่างเท่ากัน แต่ประหยัดไฟกว่ากันหลายเท่า จึงกดสั่งมาลองดู 2 หลอด
       ประมาณหนึ่งอาทิตย์ของก็มาถึง (เร็วมาก) ลักษณะก็ตามรูป แต่ขนาดจะใหญ่กว่าของเดิมค่อนข้างมาก ใจนึงก็พะวงว่าจะใส่หลอดไฟ LED ที่สั่งมาได้มั๊ย แอบลุ้นอยู่ แต่พอหมุนเกลียวเข้าไปแล้ว ปรากฏว่าใช้ได้ แต่หลอดจะเลยลงมาด้านล่างของช่องใส่หลอด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก
ระดับแสงไฟตู้เย็นของหลอด E14 แบบ LED
ระดับแสงไฟตู้เย็นของหลอด E14 แบบ LED
       สำหรับความสว่าง จากที่เห็นก็จะสว่างกว่าเดิมนิดนึง จริง ๆ หลอดที่สั่งมาจากเวปมีหลายขนาดตามจำนวน LED แต่ที่สั่งมานั้นกลัวว่าแสงจะไม่พอ เลยสั่งขนาดที่มี led มากตัวหน่อย ขนาดหลอดก็เลยค่อนข้างยาว
      ในส่วนของผู้อ่านที่อยากจะลองเปลี่ยนเป็นหลอด LED ดู ผู้เขียนคิดว่าหากซื้อหาได้ในราคาไม่แพงก็น่าสนใจอยู่ แต่ก็ต้องดูระยะยาวอีกทีว่าอายุการใช้งานจะยาวนานหรือไม่ ราคาค่าตัวหลอดที่ซื้อมาเปลี่ยนนั้น ราคาก็ตกประมาณหลอดละ 50 บาท ซึ่งสำหรับผู้เขียนคิดว่าเมื่อแลกกับค่าไฟฟ้าที่ลดลงนิดนึงกับอายุการใช้งานที่นานมากขึ้น(หวังไว้อย่างนั้น) ราคาก็น่าสนใจอยู่ แถมลดความร้อนจากหลอดไส้ไฟได้นิดนึงอ่ะนะ

วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2561

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคแรก)


การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น   HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคแรก)

      เป็นเรื่องน่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย เมื่ออยู่ ๆ ตู้เย็นที่บ้านก็มืดสนิทตอนเปิดเพื่อที่จะหยิบน้ำขึ้นมาดื่ม ตอนแรกเข้าใจว่าปลั๊กหลวมหรือหลุดจากเต้าเสียบ ..แต่ความเย็นก็ยังเย็นปกตินี่นา... คิดอย่างนั้นจีงเริ่มเช็คจากส่วนที่ง่ายที่สุดก่อนดีกว่า
“หลอดไฟตู้เย็น”
       เอาของที่วางเกะกะมือออก แล้วค่อย ๆ ล้วงเข้าไปบิดหลอดไฟออก จนหลอดไฟตู้เย็นค่อย ๆ คลายออกมา หน้าตาก็เป็นแบบที่เห็นนี่แหละ มีคราบสีดำติดอยู่โดยรอบหลอดแก้ว เมื่อส่องดูภายในกับแสงสว่าง ก็พบว่าไส้หลอดขาดเรียบร้อย คงต้องถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วละ
หลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
หลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
      โดยปกติเราก็จะหยิบหลอดไฟตู้เย็นไปที่ร้านขายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ หรือตามร้านขายอะไหล่ตู้เย็น แล้วถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้ถือหลอดไฟตู้เย็นไปด้วย เราจะบอกกับคนขายว่าอย่างไรนะ?
คิดว่าหลายคนคงเคยพบกับปัญหาแบบนี้กันมาบ้าง  แน่นอนว่าหลอดไฟตู้เย็นจะมีขนาดแรงดันและกำลังไฟบอกอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าขนาดของเกลียวมันเท่าไหร่กันหล่ะ?
        อย่างหลอดตู้เย็นที่ขาด จะพิมพ์ที่ฐานหลอดว่า 230V/15W  แต่หลอดไฟขนาด 15 W. เอง ก็มีหลายขนาด ลองเอาไม้บรรทัดวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดไฟตู้เย็นได้ประมาณ 13 มิลลิเมตร กว่า ๆ ลองค้นข้อมูลก็พบว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับหลอดไฟชนิดนี้อยู่ไม่น้อย เลยขอเอามาแชร์เป็นความรู้ดีกว่า
        ปกติถ้าเราสังเกต จะพบว่าหลอดไฟขั้วเกลียว มักจะมีรหัสหลอดตัวหน้าเป็นอักษรตัว E หรือบางครั้งก็ไม่มี... แล้วอักษรตัว E ที่ขั้วหลอดไฟหมายถึงอะไรกันนะ
การวัดขนาดหลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
การวัดขนาดหลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
        อักษรตัว E ที่เราเห็นที่ฐานของหลอดไฟ มาจากคำว่า Edison (ชื่อเต็ม คือ Thomas Alva Edison) ซึ่งเป็นชื่อของผู้คิดค้นและประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาเพื่อให้ทั้งโลกได้สว่างไสว สำหรับประวัติของผู้ชายคนนี้ผู้เขียนจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังกันอีกทีนะครับ
       ส่วนตัวเลขที่อยู่ข้างหลังตัวอักษรตัว E แสดงถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของขั้วหลอดไฟ (ฐานที่จะใส่ขั้วหลอดลงไป) โดยจะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร โดยตามมาตรฐานที่กำหนด มีตั้งแต่ขนาด E5 ถึง E40 หมายความว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของขนาดหลอดไฟมีตั้งแต่ขนาด 5 มิลลิเมตร ถึงขนาด 40 มิลลิเมตร ( 4 เซนติเมตร ) แต่ที่ใช้โดยทั่วไปเป็นสากลทั่วโลก ร้อยละ 80 จะเป็น E5, E12, E14, E27, E40 สำหรับประเทศไทยที่ผู้เขียนเห็นใช้บ่อย ๆ จะเป็น  E14 และ E27 เป็นส่วนใหญ่ โดยมีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการจำว่า  ขั้ว E14 มีขนาดเท่ากับนิ้วก้อย ส่วน E27 มีขนาดเท่ากับนิ้วโป้ง
          สำหรับเส้นผ่านศูนย์กลางที่วัดได้ 13 มิลลิเมตรกว่า ๆ ก็จะได้ขนาดหลอดตู้เย็นเทียบเท่าเบอร์ E14 (เนื่องจากขนาดขั้วหลอดจะเล็กกว่าขั้วของฐานใส่หลอดเล็กน้อย มิฉะนั้นจะใส่ขั้วหลอดไม่เข้า)
         ครั้งต่อไปหากไม่อยากถือหลอดตู้เย็นไป หรือว่าลืมถือหลอดไฟตู้เย็นไปร้านขายอะไหล่ ก็ให้วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของขั้วหลอดไฟ ได้ค่าประมาณเท่าไหร่ ก็เท่ากับมาตรฐานที่เราต้องการ หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อหลอดไฟตู้เย็นในครั้งหน้ากันนะครับ

Pages