วันอาทิตย์, เมษายน 29, 2561

ประวัติเงินตราของประเทศไทย


ประวัติเงินตราของประเทศไทย

          ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น สำหรับชนชาติไทยสันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะเงินมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เรียกกันว่า เงินพดด้วง ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เองเป็นเวลาหลายร้อยปีจวบจนมีการนำเงินเหรียญตามแบบสากลเข้ามาใช้

เงินตราคืออะไร
     เงินตรา คือ วัตถุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย เป็นตัวแทนการวัดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เงินตราในอดีตเริ่มจากการใช้เปลือกหอย อัญมณี และพัฒนามาเป็นโลหะ จนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร

เงินตราฟูนัน
         อาณาจักรฟูนันก่อตัวขึ้นบริเวณทางใต้ของลุ่มน้ำโขง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 และล่มสลายลงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จากการโจมตีของพวกเจนละ อาณาจักรฟูนันได้รับอารยธรรมด้านการปกครองโดยกษัตริย์และการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดีย เงินตราที่ใช้จะมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนา โดยมีลักษณะเป็นรูปพระศรีวัตสะ กลองบัณเฑาะว์ที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่าง ๆ และมี เครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งหมายถึงความโชคดี

เงินตรา ทวารวดี
         อาณาจักรทวารวดีเริ่มมีความสำคัญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม การปกครองยังคงอยู่ในระบบกษัตริย์ ประชาขนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เงินตราที่พบยังคงมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์และศาสนา เช่น เหรียญเงินด้านหนึ่ง เป็นรูปบูรณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านเป็นภาษาสันสกฤตราณ อ่านว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” เป็นต้น

เงินตรา ศรีวิชัย
          ประมาณพุทธศตวรรษที่  13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้นส่งผลให้เมืองที่อู่บนคาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและอินเดีย ทางฝั่งตะวันตก และสินค้าจากจีน ขอม ทวารวดี ทางฝั่งตะวันออก มีความสำคัญขึ้นเช่นกัน จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตรา ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย การปกครองได้ใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เงินตราที่ใช้ทำด้วยเงินและองคำ มี 2 ชนิด คือ “เงินดอกจัน” ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉก อีกก้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ” เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” ด้านหนึ่งมีร่องเล็ก ๆ คล้ายเล็ดกาแฟอีกด้านหนึ่ง เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ น “ ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “ น “ ว่า “เงินนโม” อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงในพุทธศตวรรษที่ 18

เงินตราสุโขทัย
         ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยถือกำเนิดขึ้น ได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ โดยที่ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง นอกจากนี้ยังใช้ “เบี้ย” เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำ
 เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน (Bullet Money) เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลก ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2  ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

เงินตราสมัยกรุงศรีอยุธยา
         ในสมัยนี้ยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตรา แต่หลวงผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงในสมัยนี้ คล้ายเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย แต่ตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่เป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น


เงินตราสมัยกรุงธนบุรี
         ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่ามีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เพียง 2 ชนิด คือ เงินพดด้วงตราตรีศุลและตราทวิวุธ

เงินตราสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
         ในปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้าม คือ กรุงเทพมหานคร และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เงินตราที่ใช้ในยุคต้น ๆ ยังคงใช้เงินพดด้วง โดยที่ตราประทับบนเงินพดด้วงคือตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาล ซึ่งได้แก่
         รัชกาลที่ ๑ ตราบัวอุณาโลม
         รัชกาลที่ ๒ ตราครุฑ
         รัชกาลที่ ๓ ตราปราสาท
         รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ
         รัชกาลที่ ๕ ตราพระเกี้ยว

สมัยรัชกาลที่ ๑
      เงินพดด้วงในรัชกาลนี้ เดิมประทับตราจักร และตราตรีศูล แต่หลังจากบรมราชาภิเษกแล้ว ได้โปรดเกล้า ให้ผลิตเงินพดด้วงประจำรัชกาลแล้วประทับตราพระแสงจักร-บัวอุณาโลม

สมัยรัชกาลที่ ๒
      ตราที่ประทับบนเงินพดด้วง คือ ตราจักรและตราครุฑ สันนิษฐานว่าตราครุฑ มาจากพระนามเดิมของรัชกาลที่ ๒ คือ “ฉิม” ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ


สมัยรัชกาลที่ ๓
      ตราปราสาทเป็นตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๓ ผลิตเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในปี พ.ศ.2367 นอกจากนี้ยังมีการผลิตเงินพดด้วงเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญ ๆ ประทับตราต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ครุฑ เสี้ยว ใบมะตูม และเฉลว เป็นต้น  ส่วนการจัดทำเงินเหรียญขึ้นใช้ตามแบบสากลนิยมนั้น มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้า สั่งจัดทำตัวอย่างเหรียญทองแดงส่งเข้ามา แต่ยังไม่โปรดเกล้า ให้นำออกใช้

สมัยรัชกาลที่ ๔
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้น และได้นำเงินเหรียญของจนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วง เป็นเงินเหรียญ 
       ในปี พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้า ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “ เหรียญเงินบรรณาการ”
         ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี พ.ศ.2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “ โรงกระสาปณ์สิทธิการ” ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้า ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2447 เป็นต้นมา

สมัยรัชกาลที่ ๕
       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ปรับปรุงใหม่โดยใช้หน่วยเป็น บาทและสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

สมัยรัชกาลที่ ๖
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์ ,และ 1 สตางค์ ในช่วงต้นรัชกาบยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในปี พ.ศ.2456 จึงโปรดเกล้าให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล  เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต


สมัยรัชกาลที่ ๗
        ในรัชกาลนี้มีการผลิตเหรียญหมุนเวียนออกใช้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่นำออกใช้เป็นเหรียญชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตราพระบรมรูป-ช้างทรงเครื่อง


สมัยรัชกาลที่ ๘
           เหรียญประจำรัชกาลที่ผลิตออกใช้หมุนเวียน เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-พระครุฑพ่าห์ ชนิดราคา 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, และ 5 สตางค์ ซึ่งมี 2 รุ่น คือ รุ่นแรกมีพระบรมรูปเมื่อครั้นเจริญพระชนมพรรษา


สมัยรัชกาลที่ ๙
          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในรัชกาลนี้ มี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์, 5 สตางค์, 10 สตางค์, 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 5 บาท และ 10 บาท
            นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผลิตทั้งเหรียญประเภทธรรมดาและเหรียญประเภทขัดเงา

วันจันทร์, เมษายน 23, 2561

พริกขี้หนูสวน-พริกที่ขึ้นชื่อว่าเผ็ดที่สุดในประเทศไทย

 พริกขี้หนูสวน-พริกที่ขึ้นชื่อว่าเผ็ดที่สุดในประเทศไทย

     พริกขี้หนูสวน ที่มองอย่างไรก็ไม่ละม้ายคล้ายขี้หนูหรืออาจจะรสเผ็ดเหมือนขี้หนู ผู้เขียนก็ไม่อาจจะทราบได้ เนื่องจากไม่เคยได้ชิมรส ว่าขี้หนูมีรสชาตอย่างไร
เม็ดพริกขี้หนูสวน
พริกขี้หนูสวน
     เคยกันบ้างไหมเวลาทำกับข้าว เช่น ผัดกระเพรา ทำน้ำปลาพริก  ทำน้ำจิ้มหอยแครงลวกหรือหอยแมลงภู่ลวก น้ำจิ้มปลาทอดกรอบ  หรือต้องการเพิ่มรสชาตให้กับอาหารให้มีดีกรีของความเผ็ดขึ้นมา ถึงตอนนั้นเราจึงจะนึกถึงพริกชนิดนี้ เพราะการขาดรสเผ็ดในอาหารบางอย่างมันถึงกับทำให้อาหารชนิดนั้นลดความอร่อยลงไปเลยทีเดียว เอาอย่างง่ายแค่ผัดผักบุ้งไฟแดง เพียงทุบเม็ดพริกขี้หนูลงไปให้พอได้รส ผัดผักบุ้งจานนั้นก็ดูจะน่าทานขึ้นมาเลยทีเดียวเชียว!!!!
เม็ดพริกขี้หนูสวน
พริกขี้หนูสวน
     เหตุใดพริกขี้หนูเม็ดเล็ก ๆ เม็ดนี้จึงมีคุณค่าต่ออารมณ์ในการทานอาหารเช่นนี้นะ แรก ๆ ผู้เขียนเองก็มิได้ใส่ใจเท่าไรนัก จนเมื่อได้ทำอาหารเองแม้จะไม่บ่อย แต่ทุกครั้งแม่บ้านก็จะซื้อพริกถาดเล็ก ๆ จากตลาดมาปรุงอาหารอยู่เสมอ แต่ใช้เพียงครั้งเดียว พริกที่เหลือเกือบทั้งถุงก็ลงไปนอนเย็นสบายภายในตู้เย็น รอวันเหี่ยวแห้งผิดหนังย่นและโยนลงถังขยะ ไม่เหลือความอร่อยในการปรุงอาหารในครั้งต่อไป และแม้จะซื้อสด ๆ มาจากตลาด แต่นั่นแหละมันสดแค่ตลาด!!!
ภาพน้ำปลาพริกจากร้านขายก๋วยเตี๋ยว
ภาพน้ำปลาพริกจากร้านขายก๋วยเตี๋ยว
     แม้ราคาค่าพริกหนึ่งถาดน้อยจะไม่กี่บาท แต่ถ้าต้องซื้อทุกครั้งที่ต้องทำอาหารก็ดูจะเปลืองเงินมากโขอยู่ นั่นสิ...แล้วทำไมเราไม่ปลูกเองซะเลยล่ะ
     หลังจากที่แม่บ้านผู้เขียนได้รับทราบนโยบายเร่งด่วนก็ได้ไปขอพันธุ์พริกจากแม่ผู้เขียนมาจากต่างจังหวัด ทำอาหารเสร็จก็โรยเมล็ดพริกขี้หนูทิ้ง ๆ ไว้แถวหน้าทาวน์เฮ้าส์ (พื้นที่นิด ๆ) แล้วก็รอวันเติบโต
จนลืมไปว่าเคยหว่านเมล็ดพริกขี้หนูไว้ จนวันหนึ่งผู้เขียนได้ไปตัดหญ้าที่พื้นที่อันน้อยนิดนั้นแล้วก็ได้เห็นต้นหญ้าสองต้นผิดแผกจากต้นหญ้าทั่วไป จึงนึกเอะใจหลังจากที่ตัดขาดไปแล้วต้นหนึ่ง นี่มันต้นพริกนี่

      นับจากวันนั้นก็เฝ้ารดน้ำดูแล ด้วยความที่อยากเห็นเม็ดพริกขี้หนูหน้าบ้านสักครั้งนึง....และแล้วความเอาใจใส่ก็เกิดผล เม็ดพริกขี้หนูค่อย ๆ แทงปลายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างน่าชื่นชม (นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พริกบางชนิดเรียกว่า พริกชี้ฟ้า เพราะว่าปลายของพริกขี้หนูก็ออกมาชี้ฟ้าเหมือนกัน)


ดอกพริกขี้หนูสวน
ดอกพริกขี้หนูสวน
       จากนี้ไปผัดกระเพราเราก็ไม่ต้องง้อตลาดอีกแล้ว แต่ผลพลอยได้เกินคาด นั่นคือ พริกสดที่เราปลูกเองนั้น มันไม่เหมือนกับที่เราซื้อจากตลาด พริกสดที่เราเด็ดแล้วทำอาหารเลย เป็นพริกที่ไม่มียาฆ่าแมลง เป็นพริกที่หอม และก็อร่อยแบบเผ็ด ๆ ไม่ใช่พริกที่เหี่ยว ๆ ดังนั้นถ้าใครยังไม่เคยปลูกพริกด้วยตัวเองผู้เขียนแนะนำว่าอยากให้ลองปลูกพริกกินเองสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าพริกอร่อยเป็นอย่างไรสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งพริกที่เผ็ดที่สุดในประเทศไทยหรือไม่ แค่หั่นซอยทำน้ำจิ้มปลาทอดก็สุดยอดแล้ว แถมอยากกินเมื่อไหร่ก็ค่อยไปเด็ดเอามา สดโดยที่ไม่ต้องแช่เย็น
       

ต้นราชพฤกษ์หรือต้นคูนต้นไม้ประจำชาติไทย

ต้นราชพฤกษ์หรือต้นคูนต้นไม้ประจำชาติไทย

      ต้นราชพฤกษ์หรือต้นคูนนี้ นอกจากจะเป็นต้นไม้ประจำชาติไทยแล้ว ยังเป็นพืชสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าอย่างมากมาย แต่เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย อาจจะเนื่องเพราะเป็นต้นไม้ที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามท้องถนนและริมทางเดินต่าง ๆ จึงถูกมองเป็นไม้ประดับด้วยมีช่อดอกที่ห้อยระย้างดงาม จนฝรั่งขนานนามว่า Golden Shower Tree (ผู้เขียนอ่านครั้งแรกแล้วจินตนาการตามก็งดงามเช่นนั้น ...) เพราะเหมือนหยดน้ำสีทองที่พุ่งเป็นพุ่มจากฝักบัวอาบน้ำ
Golden Shower Tree
ดอกราชพฤกษ์หรือดอกคูนกำลังบานสะพรั่ง

       นอกจากนี้ตามความเห็นของผู้เขียน ยังเป็นดอกไม้ที่พาให้หัวใจฉ่ำเย็นในเดือนที่อากาศร้อนอบอ้าวที่สุดของปี นั่นคือเดือน มีนาคม และเดือนเมษายน ของทุกปี เพียงได้เห็นดอกพุ่มที่เหลืองคล้ายดั่งทองที่พริ้วไหวไปตามแรงลม ก็ช่างดูงดงามยิ่งนัก โดยเฉพาะบางต้น ทิ้งใบเกือบหมด แลเห็นแต่ดอกเหลืองสะพรั่งเต็มไปหมด
Golden Shower Tree
ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูณ


เนื้อในฝักคูนหรือราชพฤกษ์มีฤทธิ์ระบายท้อง
เนื้อและเมล็ดในฝักคูนหรือฝักราชพฤกษ์


       ในหนังสือ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข ได้กล่าวถึงสรรพคุณของต้นคูน (ราชพฤกษ์)  ไว้ดังนี้

  คูน (ราชพฤกษ์) เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลาง ใบใหญ่ ดอกสีเหลือง ห้อยเป็นพวง ฝักกลมยาวเกลี้ยง (ฝักคล้ายกัลปพฤกษ์แต่ไม่มีขนละเอียดปกคลุมเหมือนกัลปพฤกษ์: ผู้เขียน) เนื้อในสีดำ

        เนื้อในฝัก : รสหวานเอียน สรรพคุณ ระบายท้อง ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ
        ดอก : รสขมเปรี้ยว            สรรพคุณ แก้ไข้ เป็นยาระบาย
        เปลือกและใบ : รสฝาดเมา สรรพคุณ บดผสมทาฝี และเม็ดผื่นตามร่างกาย
        ใบ : รสเมา                      สรรพคุณ ระบายท้อง แก้พยาธิผิวหนัง
        ราก : รสเมา                    สรรพคุณ ฝนทารักษาขี้กลาก และเป็นยาระบายท้อง แก้คุดทะราด
        แก่น : นักไสยศาสตร์ใช้ทำปลัดขิกลงยันต์ผูกเอวเด็ก เพื่อให้ปีศาจไม่รบกวนเด็ก
        เปลือกต้น :  รสฝาด          สรรพคุณ แก้ท้องร่วง สมานแผล
        เปลือกเม็ดและเปลือกฝัก : รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ถอนพิษยาเบื่อเมา ทำให้อาเจียน
        กระพี้ : รสเมา                   สรรพคุณ แก้รำมะนาด

ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครศรีธรรมราช
ดอกคูนห้อยเป็นพวงระย้างดงาม
         จะเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นต้นไม้ประจำชาติที่มีดอกสีเหลืองห้อยระย้าเป็นพวงงดงามแล้ว คุณค่าของต้นราชพฤกษ์หรือต้นคูนนี้ยังมีแทบทุกส่วน หากเป็นหญิงที่งดงาม ก็ต้องบอกว่า สวยทั้งรูปแถมจูบก็ยังหอม อีกด้วย

         อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวเลยก็อาจจะไม่ครบถ้วน นั่นคือ นอกจากจะเป็นต้นไม้ประจำประเทศไทยแล้วต้นราชพฤกษ์นี้ยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น และจังหวัด นครศรีธรรมราช อีกด้วย

                                       "เนื้อในฝักช่วยระบายหายอึดอัด
                                        ดอกสีเหลืองเจิดจรัสเป็นพุ่มไหว
                                        ไม้มงคลเลื่องลือนามงามอย่างไทย
                                        ราชพฤกษ์...ราชาไม้ในแผ่นดิน"

วันอังคาร, เมษายน 17, 2561

น้ำปลาไทย-เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย

  น้ำปลา คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวมีรสเค็ม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหาร เป็นผลิตผลที่ ได้จากการหมักปลากับเกลือซึ่งเป็นกรรมวิธีการแปรรูป ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเอเชีย อาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำน้ำปลามากที่สุดประเทศหนึ่ง นอกจากความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว น้ำปลายังมีความสำคัญทางด้านโภชนาการ อีกด้วย น้ำปลาประกอบด้วยเกลือ 27-28 กรัม, สารอินทรีย์ไนโตรเจน 0.6-2 กรัม, แอมโมเนียม ไนโตรเจน 0.2-0.7กรัม ใน100 มิลลิลิตรของน้ำปลา ซึ่งจะให้ไนโตรเจน แก่ร่างกาย 7.5% จากปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดที่ร่างกายได้รับเข้าไป 40 กรัมต่อคนต่อวันได้ทีการวิจัยพบว่า น้ำปลาเป็นแหล่งใหญ่ของเกลือแร่ และกรดอะมิโน ที่จำเป็นไม่น้อยกว่า 13 ชนิด โดยเฉพาะ “ไลซีน” (LYSINE) ซึ่งมีปริมาณสูงพอที่จะทดแทน การขาดไลซีนในคนที่ รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ น้ำปลายังมีสารอาหาร ที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ วิตามินบี 12 ซึ่งมีค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วร่างกายของคน ต้องการวิตามินบี 12 เฉลี่ยคนละ 1 ไมโครกรัม ต่อวันจากการศึกษาพบว่า ถ้ารับประทานน้ำปลาแท้เพียงวันละ 10-15 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ก็จะทำให้ร่างกายได้รับ วิตามินบี 12 ส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับที่ได้รับจากอาหาร อื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อย ก็จะมีปริมาณเพียงพอต่อ ร่างกาย และทำให้ปลอดภัยจากโรคโลหิตชนิดเม็ดเลือดแดงโตได้ น้ำปลาในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ฟิลิปินส์ เรียกว่า “ปาทิส” (Patis), เวียดนาม เรียกว่า “น็อกมั่ม” (Nuocmam) เป็นต้น กรรมวิธีการผลิต
        การใช้ปลาหมักกับเกลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการปรุงรสอาหารนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไป เพียงแต่ความนิยมในการใช้อาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมอาหารการกินของแต่ละชนชาติ
โดยจะว่าไปแล้วมนุษย์เรียนรู้การใช้เกลือเพื่อการถนอมอาหารกันมานานหลายร้อยปีแล้ว การหมักปลากับเกลือนั้นถือเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ล้วนทำกันทั้งนั้น เนื้อสัตว์ที่ใช้ก็มักจะเป็นปลามากกว่าสัตว์อื่น ซึ่งนักชีวเคมีมาวิเคราะห์กันในภายหลังว่า เป็นเพราะเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ และยิ่งถ้าหมักทิ้งไว้นานๆ เนื้อปลาจะเป็นโปรตีนชนิดเดียวที่ถูกย่อยได้หมด ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล เพียงแต่ระยะเวลาในการหมักอาจต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของปลา อย่างเช่น ถ้าปลาตัวโตการย่อยก็จะช้าลง
          การใช้ปลาหมักกับเกลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการปรุงรสอาหารนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไป เพียงแต่ความนิยมในการใช้อาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมอาหารการกินของแต่ละชนชาติ
รูปภาพ1รูปภาพ2
                   หลักการง่าย ๆ ของการผลิตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการหมักน้ำปลา คือการใช้เกลือในการควบคุมจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการ เช่น จุลินทรีย์ก่อโรคที่จะติดมากับปลา น้ำทะเล และเกลือ รวมทั้งควบคุมปริมาณจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดการเน่าเสียของปลาด้วย ส่วนจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญได้จะสร้างเอนไซม์ขึ้นมา รวมทั้งเกลือจะทำให้มีการปลดปล่อยเอนไซม์จากตัวปลาที่ตายแล้ว เอนไซม์และจุลินทรีย์เหล่านี้ จะย่อยสลายเนื้อปลาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีน จนกลายเป็นของเหลวทำให้ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์และง่ายต่อการใช้งานของร่างกาย ทั้งทำให้เกิดกลิ่น และเกิดสารพวกชูรสทำให้ได้รสชาติที่อร่อย ส่วนสีของน้ำปลาเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของกรดอะมิโน หรือไขมัน กับน้ำตาลชนิดต่าง ๆ และจะมีสีเข้มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงและมีออกซิเจน โดยที่แสงสว่างนั้นไม่มีผลต่อการเกิดสีน้ำตาลโดยตรง ปัจจุบันอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ในการหมักน้ำปลา จึงได้มีการปรับปรุงทำให้กระบวนการหมักเกิดได้เร็วขึ้น โดยพบว่าอุณหภูมิมีส่วนช่วยทำให้เอนไซม์ทำงานได้รวดเร็ว จึงมีความพยายามเพิ่มอุณหภูมิในการหมัก รวมทั้งมีการเติมเอนไซม์ กรด หรือด่าง ที่ช่วยให้เกิดการย่อยโปรตีนทำให้การหมักเกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถลดเวลาการหมักน้ำปลาลงได้อย่างมาก นอกจากนี้อาจมีการเติมสารปรุงแต่งสี สารแต่งกลิ่น และรส เพื่อช่วยให้น้ำปลาน่ารับประทานขึ้นอีกด้วย
รูปภาพ3รูปภาพ4
                    ประเทศทางแถบตะวันตกแม้จะใช้การหมักปลากับเกลือเหมือนกัน แต่ลักษณะการใช้จะนิยมใช้ปรุงอาหารในขณะที่เนื้อปลายังไม่ถูกย่อยสลายไปมากนัก คือยังเป็นชิ้นหรือเป็นตัวอยู่ เช่น ปลาแอนโชวี่ (Anchovy) ที่ใช้ในการปรุงรสของอาหารตะวันตก ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียจะมีความหลากหลายของการใช้ปลามากกว่า ถ้าเป็นปลาหมักที่ยังเป็นตัวๆ หรือมีเนื้อให้กินได้ ก็อย่างเช่นพวกปลาเค็ม, ปลาร้า, ปลาเจ่า แต่ถ้าเป็นชนิดที่มีการแปรสภาพแล้ว เช่น น้ำกะปิ, น้ำเคย พวกนี้จะมีลักษณะเป็นของเหลวข้น ซึ่งบางแห่งก็นิยมเอาไปตากแดดกลายเป็นกะปิแผ่นหรือกะปิแห้ง ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้กินได้นานๆ
                  การแปรสภาพปลาหมักจนเป็นน้ำใสๆหรือที่เราเรียกว่า “น้ำปลา” นั้น ก็เห็นจะมีแต่ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาเท่านั้นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้เป็นตัวปรุงรสชาติอาหาร บางคนจึงสันนิษฐานว่าเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล จึงได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำปลาไว้ใช้ ซึ่งก็น่าจะถูกเป็นบางส่วน แต่ทำไมประเทศในเอเชียอย่างพม่า อินโดนีเซีย ซึ่งก็อยู่ใกล้ทะเลเหมือนกันกลับไม่ใช้น้ำปลา แต่ใช้กะปิปลาหรือที่เรียกว่า “งาปิ” ในการปรุงรสอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เคยมีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งค้นคว้าและสันนิษฐานไว้ได้น่าสนใจว่า ความคิดริเริ่มในการทำน้ำปลาในแถบอินโดจีนนั้นสืบเนื่องมาจากมีบางพื้นที่ที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้ไม่สามารถทำปลาเค็ม ปลาตากแห้งและกะปิได้ เพราะเป็นกรรมวิธีที่ต้องพึ่งพาแดดเป็นหลัก การหมักปลาในภาชนะที่มีฝาปิด เช่น ไห หรือกระเบื้องดินเผา จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด และถูกพัฒนาขึ้นในบางท้องถิ่นก่อนที่จะวิวัฒน์ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และประเทศใกล้เคียงด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ในบรรดาประเทศที่ใช้น้ำปลาเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และกัมพูชานั้น เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการผลิตน้ำปลาที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ และมีการใช้น้ำปลาในลักษณะที่แพร่หลายมาก่อนคนไทยหลายสิบปี
แหล่งกำเนิดของน้ำปลา
           น้ำปลาในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ฟิลิปินส์ เรียกว่า “ปาทิส” (Patis), เวียดนาม เรียกว่า “น็อกมั่ม” (Nuocmam) เป็นต้น โดยที่เวียดนามนั้นมีแหล่งผลิดที่สำคัญอยู่บริเวณตำบลบินทวน (มีเกลือมาก) และบนเกาะพูโกก (Phu Quoc Island) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ปลาที่ใช้ทำน้ำปลาส่วนใหญ่คือพวกปลาแมว (Clupeidae or Anchovy) และปลาสละ (Carangidae) ต่างจากคนไทยที่นิยมใช้ปลาไส้ตันหรือปลากะตัก
วิธีทำน้ำปลาของคนเวียดนามก็คือ เอาปลามานวดด้วยมือ เอาเกลือใส่ แล้วบรรจุลงในภาชนะดินเผาซึ่งปิดแน่น และฝังดินทิ้งไว้หลายเดือน เมื่อจะใช้ก็ขุดขึ้นมาและเทน้ำด้านบนซึ่งเรียกว่า “หัวน้ำปลา” ออกมาใช้ ส่วนทางตอนใต้ของเวียดนามหรือบนเกาะพูโกกนั้นจะนิยมบรรจุปลาและเกลือลงในถังไม้ขนาดใหญ่และมีรูให้น้ำไหลออกทางก้นภาชนะ ซึ่งรองเอาไว้ด้วยเปลือกหอยกับฟางข้าวเพื่อช่วยในการกรองทำให้ได้น้ำปลาที่มีสีใส ซึ่งกรรมวิธีในการทำน้ำปลาดังกล่าวมีส่วนคล้ายคลึงกับการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊วของคนจีนมาก จึงเป็นไปได้ว่าคนเวียดนามจะรับเอาเทคโนโลยีพื้นบ้านเหล่านี้มาจากจีน เพียงแต่วัตถุดิบที่ใช้แตกต่างกัน เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีปลามาก ประเทศเวียดนามจึงถือเป็นต้นตำรับของการทำน้ำปลาที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะน้ำปลาที่ทำจากเกาะพูโกกนั้นกล่าวกันว่าเป็นน้ำปลาชั้นยอด เพราะนอกจากจะไม่มีกลิ่นคาวแล้ว ยังมีกลิ่นคล้ายเนยด้วย ซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาทำสงครามในเวียดนามติดอกติดใจกันเป็นอันมาก จนกระทั่งมีการผลิตน้ำปลากระป๋องส่งไปยังกองทัพฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกกันเลยทีเดียว
รูปภาพ5รูปภาพ6
        การใช้น้ำปลาแพร่มาสู่คนไทยได้อย่างไรและตั้งแต่เมื่อไรนั้น น่าเสียดายว่าไม่เคยมีการบันทึกไว้อย่างจริงๆจังๆ มีเพียงแต่ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากคนจีนเช่นเดียวกันกับเวียดนามเพราะคนไทยมีการติดต่อค้าขายกับจีนมานาน บ้างก็ว่าคนไทยค่อยๆเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาเอง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับการทำปลาร้า ปลาเจ่า หรือน้ำเคยของทางภาคใต้ บ้างก็ว่าเป็นการค้นพบโดยความบังเอิญหลังจากที่หมักปลาทิ้งเอาไว้นานๆจนปลาถูกย่อยเกือบหมด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าน่าจะมีอิทธิพลของวัฒนธรรมอาหารการกินที่ซ้อนทับกันอยู่นั้น เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการอธิบายด้วย
รูปภาพ7รูปภาพ8
การแพร่หลายของน้ำปลาไทย
บางคนยังเข้าใจว่าสมัยก่อนที่ใช้น้ำปลาคงมีแต่ชาวประมงที่อยู่ติดทะเล ความจริงแล้วคนภาคกลางนี่แหละที่มีการใช้น้ำปลามากกว่าภาคอื่นๆ เพราะแต่ก่อนมีการทำน้ำปลาจากปลาสร้อยที่เรียกกันว่า “น้ำปลาปลาสร้อย” ซึ่งคนโบราณบอกว่ารสชาติดีมาก และอร่อยกว่าน้ำปลาที่ทำมาจากปลาทะเลเสียอีก แต่เดี๋ยวนี้หากินค่อนข้างยากเพราะไม่ค่อยมีปลาสร้อยให้จับแล้ว โรงงานผลิตน้ำปลาปลาสร้อยที่ยังเหลืออยู่ก็เห็นจะมีเพียง 1-2 แห่ง คือ ที่นครสวรรค์แห่งหนึ่ง และที่พิจิตรอีกแห่งหนึ่ง ในตอนหลังจึงมีการใช้น้ำปลาที่ทำมาจากปลาทะเลพวกปลาไส้ตัน (Stolephorus) และปลากะตัก (Clupeoidie) มากขึ้น ถึงแม้จะให้รสชาติที่แตกต่างไปบ้างแต่ก็ช่วยให้มีน้ำปลาไว้ใช้โดยไม่ขาดแคลน เพราะอาหารไทยบางชนิด เช่น ต้มยำ ส้มตำ ถ้าขาดน้ำปลาเสียแล้วก็คงไม่ถึงรสชาติ ทำให้หมดอร่อยไปเหมือนกัน การผลิตน้ำปลาในรูปของอุตสาหกรรมจึงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เพราะคนที่เคยกินน้ำปลา พอไม่มีน้ำปลาก็รู้สึกขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง ครั้นจะทำเองก็ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน ปลาก็หายากขึ้น การซื้อน้ำปลาที่ผลิตแบบสำเร็จรูปมาแล้วจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งทำให้การบริโภคน้ำปลาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
รูปภาพ9รูปภาพ10
               ความต้องการบริโภคน้ำปลานั้นไม่ได้จำกัดอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ยังมีคนไทยและคนเอเชียในต่างแดนอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดน้ำปลาไม่ได้ เพราะคุ้นเคยกับการกินอาหารที่ใช้น้ำปลามาแต่ไหนแต่ไร คนที่เคยไปอยู่ต่างประเทศนานๆ จึงมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคิดถึงอาหารไทย และถ้าวันไหนนึกอยากทำอาหารไทยกินเองล่ะก็สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ น้ำปลา จนบางคนต้องหาน้ำปลาพกติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นอีกแล้วเพราะน้ำปลาไทยมีวางขายอยู่ทั่วไปในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีน้ำปลาไทยไว้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกันอย่างทั่วถึง
น้ำปลาไทยครองตลาดโลก
                       ปัจจุบันได้มีการควบคุมคุณภาพของน้ำปลาในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีคนไทยบางคนใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ผิด เช่น ใช้น้ำสีหรือน้ำต้มกระดูกมาผสมกับเกลือ แล้วนำมาหลอกขายเป็นน้ำปลา ทำให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีน และคุณสมบัติอื่น ๆ ทั้งทางด้านสารอาหารและสาธารณสุขของน้ำปลาเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีสมกับราคา และไม่เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภค และจากการผลิตน้ำปลาในครัวเรือนทั่วไปได้มีการพัฒนาสู่โรงงานอุตสาหกรรม มีการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด และถูกหลักอนามัย ทำให้คุณภาพเป็นที่น่าเชื้อถือได้ จึงมีการส่งออกน้ำปลาไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และไกลออกไป ทั้งในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งในประเทศอเมริกาด้วย รูปภาพ12 รูปภาพ13
                       ความแพร่หลายของน้ำปลาไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศได้มีส่วนทำให้ตลาดการ บริโภคน้ำปลาขยายตัวอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตน้ำปลาเกิดความตื่นตัวและแข่งขันกันพัฒนาประสิทธิภาพของการผลิตกันยกใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีด้านการผลิต การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการปรับปรุงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่น่าใช้ มีการบรรจุในซอง ขนาดเล็ก เพื่อการใช้งานที่สะดวกในทุกสถานที่ และยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้น้ำปลาสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก แถมยังสามารถตอบสนองกลุ่มผุ้บริโภคได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การหันมาผลิตน้ำปลาซองของโรงงานน้ำปลาพิไชย (ผู้ผลิตน้ำปลาตราหอยนางรม) ที่ทำให้พกพาง่าย สะดวกแก่การใช้ในยามจำเป็นหรือขณะเดินทาง จนสายการบินบางแห่งหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้กันมากขึ้น ทุกวันนี้น้ำปลาไทยจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก อีกทั้งมีรสชาติเป็นที่ถูกใจผู้นิยมใช้น้ำปลาทั้งหลาย แม้แต่ประเทศต้นตำรับอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็ยังหันมาซื้อน้ำปลาไทยกันไม่น้อย
ปัจจุบันประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมการประมงที่บูมมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลเองก็มีนโยบายส่งเสริมอุตหาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการตลาดและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนาจนประสบความสำเร็จในเวทีตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงแต่นำรายได้เข้าประเทศเท่านั้น ยังถือเป็นความภูมิใจของคนไทยอีกด้วย


น้ำปลาสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของกรรมวิธีการผลิต ได้ดังนี้
1. ปลาแท้ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่ได้มาจากการหมักปลาหรือส่วนของปลากับเกลือ หรือกากปลาที่เหลือจากการหมักกับน้ำเกลือ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้น้ำปลาประเภทนี้ต้องมีปริมาณของไนโตรเจนรวม ( total nitrogen) มากกว่า 9 กรัมต่อลิตร
2. น้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่น คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวซึ่งได้มาจากการหมักสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก หรือการย่อยสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ปลา หรือส่วนของสัตว์อื่น หรือกากของสัตว์อื่นที่เหลือจากการหมักตามกรรมวิธีการผลิตน้ำปลา และให้ความหมายรวมถึงน้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่นที่มีน้ำปลาแท้ผสมอยู่
3.น้ำปลาผสม คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการนำน้ำปลาแท้ หรือน้ำปลาที่ทำจากสัตว์ชนิดอื่นมาเจือปนหรือเจือจางด้วยสิ่งอื่น หรือมีการปรุงแต่งกลิ่นรสโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้น้ำปลาประเภทนี้ต้องมีปริมาณของไนโตรเจนรวม ( total nitrogen) มากกว่า 4 กรัมต่อลิตร หากมีปริมาณน้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ถือว่าเป็นน้ำเกลือปรุงรส

ที่มา: https://phaewmon.wordpress.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%882-2/

มะละกอ มาจากไหนกันนะ

            มะละกอ มาจากไหน

            แหล่งกำเนิดมะละกอ  มะละกอเป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก และคอสตาริกา โดยสเปนเอาพันธุ์มะละกอมาจากฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามา และโคลัมเบียมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2069 ตรงกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยเริ่มทดลองปลูกที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ก่อน และชาวโปรตุเกสเอาพันธุ์มะละกอเข้ามาปลูก ที่เมืองมะละกาของประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2314 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากนั้นจึงนำมะละกอไปปลูกทางอินเดียต่อไปซึ่งในยุคพระเจ้าตากสินมหาราช  ชาวกรุงธนบุรีก็ยังไม่รู้จักมะละกอ
             แต่เมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ชาวสยามถึงเริ่มรู้จักพืชชนิดหนึ่งที่ได้พันธุ์จากเมืองมะละกา จึงเรียกพืชชนิดนั้นว่า มะละกา แต่เพี้ยน เป็น มะละกอ จนมาถึงปัจจุบัน
 มะละกอโดยทั่วไปจะเรียก papaya 
 ส่วนประเทศบราซิล เรียกว่า mamao 
 ประเทศเวเนซูเอลาและโปรตุเกสเรียกว่า lechoso 
ในคิวบาเรียกว่า fruita bomba
 มาเลเซียเรียก kepaya หรือ katela หรือ ketek
 ส่วนบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก แอฟริกา และ สหราชอาณาจักร เรียกว่า pawpaw หรือ     papaw 
 ในประเทศไทยก็มีชื่อเรียกมะละกอที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเช่นกัน คือ
 ภาคเหนือเรียก มะก้วยเต็ด
 ภาคกลาง เรียก มะละกอ 
 ภาคอีสานเรียก บักหุ่ง
 และภาคใต้เรียก ละกอ

การเดินทางของส้มตำ

ส้มตำ(Somtam)

       ประวัติส้มตำ
       คนมักเข้าใจกันผิดว่าส้มตำเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคอีสานหรือของลาว แท้จริงแล้วส้มตำเป็นอาหารสมัยใหม่ถือกำเนิดมาราว 40 ปีเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่นำเข้ามาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพ และตัดถนนมิตรภาพเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สู้รบ พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอไปปลูกสองข้างทางของถนนมิตรภาพ มะละกอจึงเผยแพร่ไปสู่ภาคอีสาน เปิดโอกาสให้ชาวอีสานได้ประดิษฐ์ส้มตำขึ้น
        ส้มตำ เป็นอาหารที่คนอีสานชอบและกิน กินกับข้าวเหนียวหรือกินเล่นๆ ก็ได้ คนภาคอีสานและภาคเหนือเรียกว่า ตำส้ม การทำส้มตำทำง่ายๆ คือ นำมะละกอที่แก่จัดมาปลอกเปลือกออก ล้างเอายางออกให้สะอาดแล้วสับไปตามทางยาวของลูกมะละกอ สับได้ที่แล้วก็ซอยออกเป็นชิ้นบางๆ จะได้มะละกอเป็นเส้นเล็กๆ ปลายเรียว เมื่อได้ปริมาณมากตามต้องการแล้ว ต่อไปก็เตรียม พริก กระเทียม มะนาว น้ำปลา ถ้าเป็นส้มตำแบบอีสานแท้นั้นใช้น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาหรือจะใช้ทั้งสองอย่าง
         เมื่อเตรียมทุกอย่างครบแล้วก็นำ พริก กระเทียมมาใส่ลงในครก ใช้สากตำละเอียดพอประมาณ ใส่มะละกอที่ซอยไว้แล้วลงไป ตำให้พริก กระเทียม มะละกอคลุกเคล้ากันให้เข้ากันดี หากเตรียมมะเขือเทศและถั่วฝักยาวมาด้วยก็จะฝานผสมลงไป เติมมะนาว น้ำปลาร้า และน้ำปลา ตำคลุกเคล้ากันดีแล้ว ตักชิมรสดู เติมเปรี้ยวหรือเค็มตามต้องการ แล้วตักใส่จาน กินกับข้าวเหนียวได้พร้อมกับกับข้าวอย่างอื่น คนอีสานกินส้มตำเป็นกับข้าวได้ทุกมื้อ
         ต่อมาตำส้มของชาวอีสานแพร่หลายลงมาภาคกลาง อาจเนื่องมาจากชาวอีสานมาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ตำส้มแบบอีสานก็แพร่หลายในกรุงเทพและส่วนอื่นๆของประเทศไทย โดยเฉพาะร้านข้าวเหนียวส้มตำจะแพร่หลายอยู่ตามกลุ่มคนงานชาวอีสาน
          นอกจากส้มตำก็จะมีไก่ย่าง ปลาดุกย่างและอาหารอื่นๆด้วย ส้มตำเลยเป็นที่นิยมแพร่หลาย การทำส้มตำ จึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนภาคกลาง เช่น เพิ่มน้ำตาลให้มีรสหวาน เพิ่มถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง ตัดปลาร้าออกใช้แต่น้ำปลาเป็นต้น ส้มตำ หรือ ตำส้มจึงมีรสดั้งเดิมแบบอีสาน หรือแบบภาคกลาง เรียกว่า ตำไทย ซึ่งออกรสหวาน ยิ่งกว่านั้นยังมีการเพิ่มปูดองเข้าไปอีกเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น

           ตำส้มของชาวอีสาน ไม่เฉพาะแต่มะละกอเท่านั้น ผลไม้อย่างอื่นที่ยังไม่สุกก็นำมาทำเป็นตำส้มได้ เช่นขนุนอ่อน มะม่วง มะยม เป็นต้น ปัจจุบัน ส้มตำมิใช่แพร่หลายเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น ส้มตำแพร่หลายออกไปจนกลายเป็นอาหารที่นานาชาติรู้จักและเป็นอาหารจานโปรดของนักท่องเที่ยวที่โรงแรมชั้นหนึ่งทุกแห่ง ที่สำคัญ ทหารอเมริกันที่มารบกับเวียดนาม มาประจำที่ฐานทัพในประเทศไทย ต่างก็ติดใจตำส้มอีสาน นำไปเผยแพร่ที่อเมริกาจนรู้จักกันไปทั่วโลกทีเดียว


ส้มตำแบบต่างๆ



ส้มตำไทย ไม่ใส่ปูและปลาร้า แต่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ บางถิ่นอาจใส่ปูดองเค็มด้วย เรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปู
ส้มตำปู ใส่ปูเค็มแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ
ส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้าแทนกุ้งแห้ง นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำซั่ว ใส่เส้นขนมจีนแทนเส้นมะละกอ นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำป่า ใส่ผักหลายชนิด เช่น ผักกระเฉด ผักกาดดอง ปลากอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว รวมถึงหอยแมลงภู่ จะนิยมรับประทานในภาคอีสาน
• นอกจากนี้ ยังมีบางที่ นำเอาผักหรือผลไม้ดิบ อย่างเช่น มะม่วงดิบ ใส่แทนมะละกอดิบ เรียกว่า "ตำมะม่วง, "กล้วยดิบ เรียกว่า "ตำกล้วย"], แตงกวา เรียกว่า "ตำแตง", ถั่วฝักยาว เรียกว่า "ตำถั่ว" และแครอทดิบ เป็นต้น ถ้าใช้ผลไม้หลายๆ อย่างเรียกว่า ตำผลไม้
• นอกจากนี้ยังมีการใส่วัตถุดิบอย่างอื่นลงไป เช่น ใส่ปูม้าเรียกว่า ส้มตำปูม้า ใส่หอยดองเรียกว่า ส้มตำหอยดอง

ส่วนผสมหลักของส้มตำ

• มะละกอสับ 400 กรัม
• น้ำปรุงส้มตำ 120 กรัม
• ถั่วฝักยาว 80 กรัม
• มะเขือเทศ 120 กรัม
• พริกขี้หนู 5 กรัม
• กุ้งแห้ง 25 กรัม
• กระเทียม 8 กรัม
• น้ำมะนาว 20 กรัม

วิธีทำส้มตำ

• โขลก พริก และกระเทียมพอแหลก
• ใส่มะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กุ้งแห้ง โขลกพอให้มะละกอช้ำนิดหน่อย
• ใส่น้ำปรุงส้มตำ และแต่งรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวอีกเล็กน้อย รับประทานกับผักสด เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้งไทย ถั่วฝักยาว
------------------------------------------------

Pages