วันศุกร์, มิถุนายน 29, 2561

ความบังเอิญ ปาฏิหาริย์ หรือแค่เหตุการณ์ธรรมดา

ความบังเอิญ ปาฏิหาริย์ หรือแค่เหตุการณ์ธรรมดา
ต้นไผ่กับใบไม้สีเหลือง
ใบไม้สีเหลืองร่วงหล่นมาติดบนกิ่งไผ่   
         หลายครั้งในชีวิตของคนเราที่ได้พบกับอะไรบางอย่าง ที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยเฉพาะในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เรื่องราวนี้มักกลายเป็นเรื่องไร้สาระ
         ผมนึกถามตัวเองว่า มีโอกาสสักเท่าใดกันนะที่ใบไม้ที่อยู่ในสวนต้นไผ่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะได้ร่วงหล่นลงมาจากกิ่ง แล้วค้างอยู่บนต้นไผ่ที่ีมีกิ่งเล็ก ๆ เหลืออยู่เพียงปลายนิ้วก้อย เราหลายคนอาจเคยเรียนคณิตศาสตร์กันมา เราอาจคิดคร่าว ๆ ถึงความน่าจะเป็น ซึ่งผมคิดว่า "โอกาสของการเกิด" มันน้อยมาก ๆ 
         นั่นก็ยังไม่เท่ากับโอกาสของผมที่จะได้ไปพบและถ่ายรูปนี้กลับมา ผมถือกล้องเพื่อไปถ่ายภาพนกในสวนไผ่ เพราะผมคิดว่าคงมีนกหลายชนิดที่อยู่ในนั้น พื้นที่โดยรอบ ประมาณระยะทางเกือบสองกิโล ผมเดินถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ เพลิน ๆ แล้วก็สะดุดกับภาพตรงหน้าเหนือพื้นดินประมาณสี่เมตรถึงห้าเมตรเห็นจะได้
         แปลกอยู่ ..ที่ผมคิดเล่น ๆ ว่า ตอนเย็น ๆ มีคนมาวิ่งออกกำลังกายกันที่นี่มากมาย จะมีซักคนไหม ที่จะได้แหงนหน้าขึ้นไปเห็นภาพนี้
         ภาพที่ได้พบ โดยบังเอิญนี้ มันทำให้รู้สึกติดตาตรึงใจอย่างบอกไม่ถูก ผมคิดต่อไปว่า หากมีลมแรง ๆ พัดมาก่อนหน้าที่ผมจะเดินมายังจุดนี้ ต้นไผ่ต้นนี้ก็คงเหมือนต้นไผ่ทั่ว ๆ ที่ผมไม่ได้คิดที่จะเหลียวมองเลย ใบไม้ใบนี้ก็จะเป็นเพียงใบไม้ธรรมดาที่กองกันอยู่ตามพื้นรอวันเปื่อยผุพังลงไป โดยไม่ได้ผ่านสายตาผมเลยซักนิด
         แต่โชคดีที่เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้เกิด หรือยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้แยกจากกันในระหว่างที่ผมกำลังถ่ายภาพ !!!
         คนเรามักเจอกับสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้อยู่เสมอ แต่เมื่อเรามีสติ หรือความสงบ เราจึงจะได้พบและขบคิดสิ่งลึกซึ้งซึ่งมันซ่อนอยู่ เหมือนกับที่ผมเขียนโพสนี้อยู่ ผมคิดเล่น ๆ ถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีซักกี่คนที่ได้เข้ามาอ่านเรื่องนี้ และเข้าใจสิ่งที่ผมอยากจะบอกเหล่านี้ ...โอกาสของการเกิด  มันก็คงน้อยมาก ๆ 
         และถ้าคุณได้เข้ามาอ่านจนจบ ผมคิดนะ ว่านั่นก็เป็นเรื่อง ปาฏิหาริย์ สำหรับผมเช่นกัน

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 20, 2561

จุลศักราช

จุลศักราช (จ.ศ.; บาลี: Culāsakaraj; พม่า: ; เขมร: ចុល្លសករាជ) เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638) นับรอบปีตั้งแต่ 16 เมษายน ถึง 15 เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ทว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้นเป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อจะประสูติ สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งขึ้นในปีที่กษัตริย์ปยูขึ้นครองราชย์ และใช้สืบต่อมาจนถึงอาณาจักรพุกาม[1] เมื่อสมัยอาณาจักรอโยธยารับศักราชนี้ไปใช้ เลยเกิดความเชื่อกันว่าเป็นศักราชของชาวพม่า จุลศักราชถูกนำมาใช้แพร่หลายทั้งในอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัยสมัยหลัง และอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ทรงตัดปีจุลศักราช และใช้ปีศักราชจุฬามณีแทน เป็นผลทำให้ปีนักษัตรคลาดเคลื่อนไปสามปี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนกลับไปใช้ปีจุลศักราชตามเดิม และตกทอดมาถึงปัจจุบัน การคำนวณปี พ.ศ. จาก จ.ศ. ปฏิทินไทยให้ใช้ปี จ.ศ. บวก 1181 ก็จะได้ปี พ.ศ. (เว้นแต่ในช่วงต้นปีตามปฏิทินสุริยคติที่ยังไม่เถลิงศกจุลศักราชใหม่)
ในเอกสารโบราณของไทยจำนวนไม่น้อย นิยมอ้างเวลา โดยใช้จุลศักราช โดยใช้ควบคู่กับปีนักษัตร หรือ ระบุเฉพาะเลขตัวท้ายของจุลศักราช และปีนักษัตร ทำให้สามารถระบุปี ได้ในช่วงกว้างถึงรอบละ 60 ปี (มาจาก ครน. ของรอบ 10 ปีจากเลขท้ายของจุลศักราช และรอบ 12 ปีของปีนักกษัตร)

การเรียกศกตามเลขท้ายปี

ในระบบการเรียกศกตามเลขท้ายปีจุลศักราช นิยมเรียกดังนี้
  1. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก "เอกศก"
  2. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก "โทศก"
  3. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก "ตรีศก"
  4. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก "จัตวาศก"
  5. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก "เบญจศก"
  6. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก "ฉศก"
  7. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก "สัปตศก"
  8. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก "อัฐศก"
  9. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก "นพศก"
  10. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก "สัมฤทธิศก"

Pages