วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2561

หลักความเชื่อของพุทธศาสนา


หลักความเชื่อ 

     แม้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า ศรัทธา หรือความเชื่อมั่น ป็นหนึ่งในหลักธรรมสำคัญที่จะผลักดันผู้ปฏิบัติไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง ดังในพละห้า ที่ขึ้นต้นด้วยศรัทธา และตามมาด้วยวิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่มิใช่ศรัทธาอย่างมืดบอดโดยไม่มีสิ่งใดเข้ามาประกอบ แต่เป็นความมั่นใจเร่งปฏิบัติอย่างขยันขันแข็งตั้งใจและชาญฉลาด
    เมื่อพูดถึงคำว่า ศรัทธา คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ต้องเชื่อไว้ก่อนแล้วทุกอย่างจะดีเอง แม้โลกปัจจุบัน ในปีที่ 2546 หลังพุทธปรินิพพานแล้วก็ตาม คนจำนวนมากยังคงลุ่มหลงแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีความเชื่ออย่างปราศจากความยั้งคิดอีกมากมาย ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พียงแต่เรื่องศาสนาเท่านั้น แต่การดำรงชีวิตประจำวันต้องอยู่ภายใต้อำนาจของความเชื่อแรงจูงใจจากกาโฆษณาว่า จะต้องกินอย่างไร แต่งตัวอย่างไร หาความบันเทิงอย่างไร ใช้ยานพาหนะอย่างไร เรียนอะไร เรียนที่ไหน ดื่มอะไรดี และแม้แต่จะหาความสงบอย่างไรก็ล้วนต้องอาศัยความเชื่อจากแรงโฆษณาทั้งนั้น
     แต่ความเชื่อที่มีอยู่โดยทั่วไป เป็นความเชื่อที่ผู้เห็นประโยชน์จากความเชื่อมักจะปลูกฝังความเชื่อ ด้วยการโน้มน้าวจิตใจต่าง ๆ นานา จนเหยื่อตายใจ เชื่ออย่างสนิทไม่ลืมหูลืมตา ต่อจากนั้นจึงฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากความเชื่อนั้น ๆ แบบง่ายดาย
      การแสวงหาประโยชน์จากความลุ่มหลงของมนุษย์เป็นกระบวนการที่จะต้องมีต่อไปตราบใดที่คนทั่วไปไม่ยอมพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและใช้ปัญญามองให้รอบด้านจนพบความจริง
      ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า “เกสปุตตุ” ชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นชนชาวกาลามะ ชนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นผู้ใฝ่รู้ชอบสนทนากับคนต่างแว่นแคว้นที่สัญจรไปมาเพราะหมู่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่ทางไปเมืองโกศลซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าผู้ครองนครคือพระเจ้าปเสนทิมีอำนาจ เศรษฐกิจดี การค้าขายรุ่งเรืองเห็นได้จากมีพ่อค้าสำคัญ ๆ เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี อาศัยอยู่
      เมื่อชาวกาลามะได้ฟังข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยี่ยมหมู่บ้านเกสปุตตะ ก็ปลื้มใจว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ มีความอิ่มเอิบเบิกบานเป็นนิรันดร์ การได้พบปะสนทนากับพระอรหันต์ย่อมมีแต่ความดีโดยส่วนเดียว จึงนัดมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน
       เมื่อชาวกาลามามาเฝ้าพระพุทธเจ้า บางคนก็ยกมือไหว้ บางคนก็นั่งเฉย ๆ  ผู้นำของชาวกาลามะจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์เดินทางผ่านมาทางนี้กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า แต่ละกลุ่มก็ล้วนยกย่องว่า กลุ่มของตนเองดีเยี่ยมในทุกด้านแล้วพูดจาดูหมิ่นกระทบกระเทียบ ถากถาง ทำให้กลุ่มอื่นไม่น่าเชื่อถือ ข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์และนักบวชเหล่านั้นว่า ใครพูดจริงใครพูดเท็จ กันแน่
       พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาวกาลามะทั้งหลาย การที่ท่านพากันสงสัยเคลือบแคลงนั้นเป็นการสมควรแล้ว ท่านทั้งหลาย
1.อย่าเชื่อถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

2.อย่าเชื่อถือถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังสืบ ๆ กันมา

3.อย่าเชื่อถือข่าวลือว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

4.อย่าเชื่อถือโดยอ้างตำรา

5.อย่าเชื่อถือโดยเดาเอาเอง

6.อย่าเชื่อถือโดยการคาดคะเน

7.อย่าเชื่อถือโดยตรึกตรองเอาตามอาการที่ปรากฏ

8.อย่าเชื่อถือโดยชอบใจว่าถูกต้องสอดคล้องกับความเห็นของเรา

9.อย่าเชื่อโดยความน่าเชื่อว่าผู้พูดเชื่อถือได้

10.อย่าเชื่อโดยความนับถือว่า สรณะนี้เป็นครูของเรา
       เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
       หลักความเชื่อที่พระพุทธเจ้าแสดงมานั้นเป็นเรื่องที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผล ว่าเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ เมื่อประจักษ์แจ้งแล้วจึงเชื่อ และพระองค์ได้ทรงวางหลักปฏิบัติเอาไว้ให้นำไปทำดูโดยตรัสถามชาวกาลามะต่อไปว่า
      เมื่อคนเกิดความโลภ โกรธ และหลงแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหม
ชาวกาลามะเห็นชอบตามที่พระองค์ตรัสถามว่า ไม่เป็นประโยชน์
      เพื่อให้ชาวกาลามะแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น พระองค์จึงตรัสต่อไปอีกว่า คนที่ถูกความโลภ ความโกรธ และความหลงกลุ้มรุม ครอบงำแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ได้ ลักทรัพย์ได้ ประพฤติผิดในกาม คบชู้สู่สมได้ พูดเท็จได้ คนที่ถูกความโลภความโกรธความหลงครอบงำแล้ว ย่อมชักชวนให้ผู้อื่นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดไปใช่ใหม
     ชาวกาลามะเห็นคล้อยตามพระพุทธเจ้าโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ทุกคนเห็นจริงตามนั้นว่า สิ่งที่คนทำไปด้วยอำนาจของ ความโลภ ความโกรธและความหลงครอบงำแล้วล้วนเป็นอกุศล มีโทษแต่ฝ่ายเดียว ผู้รู้ทั้งหลายติเตียน
       พระพุทธองค์ทรงชี้ต่อไปว่า เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้เมื่อสมาทานดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น
       เพื่อให้เกิดความกระจ่างในทางปฏิบัติ พระองค์จึงตรัสถามชาวกาลามะต่อไปอีกว่า เมื่อคนไม่ถูกโลภ โกรธ และหลงครอบงำจิตใจแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามคบชู้สู่สม ไม่พูดเท็จ ด้วยตนเองและไม่ชักชวนให้คนอื่นทำ เป็นเรื่องที่เป็นโทษหรือเป็นประโยชน์
        ชาวกาลามะทุกคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นประโยชน์
        เมื่อพระองค์ทบทวนว่าเป็น กุศลหรืออกุศล ชาวกาลามะก็ตอบว่า เป็นกุศล
       เมื่อถามว่า ผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ ชาวกาลามะก็ตอบว่า ท่านผู้รู้สรรเสริญ ใครสมาทานแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขอย่างแน่แท้
      พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ชาวกาลามะทั้งหลาย อริยะสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดหนึ่ง สอง สาม สี่ทิศ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ถึงความเป็นใหญ่ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนอยู่
       เมื่อจิตไม่เบียดเบียน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เศร้าหมอง มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจสี่ประการในปัจจุบันว่า
        ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของการทำดี ทำชั่วมีจริง อาศัยเหตุที่ได้ทำความดีไว้นี้ เมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
       ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมดีที่ทำไว้ดีแล้ว ไม่มีความชั่ว ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียน ไม่มีทุกข์ เป็นสุขรักษาตนอยู่ในปัจจุบันนี้
      เมื่อคนอื่นทำบาป เราไม่เคยคิดชั่วแก่ใคร ๆ ไหนเลยความทุกข์จะมาถูกต้องเราผู้ไม่ทำบาปกรรมไว้เลยได้เล่า
      เมื่อใคร ๆ ก็ไม่ทำบาป เราก็ไม่ทำบาป เมื่อพิจารณาเห็นทั้งสองส่วนว่าตนบริสุทธิ์ ย่อมมีความอุ่นใจ
      พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร ทำใจให้ผ่องแผ้วย่อมอยู่อย่างอบอุ่นใจ
      เมื่อพระองค์ได้แสดงธรรมจบชาวกาลามะก็ประกาศว่า พวกเขาขอรับแนวทางของพระพุทธเจ้าเป็นทางดำเนินชีวิต ไม่แกว่งไกว หวั่นไหวออกไปนอกทางอีกแล้ว พวกเขาประกาศว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมได้แจ่มชัดจริง ๆ สามารถเห็นแจ้งได้เดี๋ยวนั้นเลย
      เมื่อเห็นชัดว่าทางนั้นเป็นทางถูกชาวกาลามะก็ยึดเป็นทางเดินชีวิตของเองตลอดไป นั้นก็แสดงให้เห็นว่า ชาวกาลามะทั้งหลายได้มีศรัทธาถูกต้องมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า และพระธรรมมิใช่ด้วยเหตุอื่น แต่เพราะเห็นแจ้งพระธรรมด้วยตนเอง
        หลักความเชื่อในเกสปุตตสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ครอบคลุมในทุกประเด็น แม้กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป แต่ปรากฏการณ์ด้านความเชื่อที่เต็มไปด้วยความลุ่มหลง ตราตรึงด้วยความเห็นผิดนับบวันจะหนาแน่นมากขึ้นด้วยความรู้สึกเย่อหยิ่งในด้านความรู้และวิทยาการที่ทันสมัย
       แต่หากมองความรู้ที่มีอยู่ทั่วโลกล้วนเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยการล้อมกรอบต้อนให้คนเข้าไปอยู่ในคอกของตนโดยการหลอกล่อด้วยอภินิหารแบบเก่าที่ใช้กลอุบายจูงใจอย่างแนบเนียน สะกดให้คนที่ยอมจำนนตามหลักที่ว่า ที่เชื่อเพราะน่าเชื่ออย่างยอมจำนนไม่คลางแคลงสงสัย
        ความเชื่ออย่างมืดบอดดังกล่าวเป็นพันธนาการที่ผู้ถูกพันธนาการเต็มใจให้พันธนาการ โดยไม่เคยเห็นพิษเห็นภัยหรือรับรู้ความเจ็บปวด จากการพันธนาการนั้น จึงกลายเป็นเหยื่อของความเชื่อที่มีมารอบด้านไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศาสนา การค้า ทุกภาคส่วนล้วนกำลังแสวงหาสาวกผู้สวามิภักดิ์ด้วยกันทั้งนั้น หากมองให้ดี โลกนี้กำลังถูกคุกคามด้วยเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่ต้องการสยบให้มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้ความเชื่อของตน แล้วฉกฉวยประโยชน์อย่างง่ายดาย ทางรอดที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจะเปิดโล่ง ต่อเมื่อมนุษย์กลับมาสร้างภูมิสติให้เข้มแข็ง ภูมิปัญญาให้เฉียบคม ภูมิสมาธิ ให้มั่นคง ใช้พุทธธรรมตามหลักแห่งความเห็นแจ้ง ก็จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยจากอำนาจความเชื่อที่มาจากไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง

ที่มา : จากหนังสือ พุทธวิถี ของ ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ : บทที่ 71 เรื่องหลักความเชื่อ

    

วันจันทร์, เมษายน 30, 2561

ความหมายของเลข 13 หลัก ในบัตรประจำตัวประชาชน


ความหมายของเลข 13 หลัก ในบัตรประจำตัวประชาชน

หลักที่ 1
หมายถึงประเภทบุคคลซึ่งมี 8 ประเภท คือ
  • ประเภทที่ 1 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย และได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่า
    เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2527 เป็นต้นไป
    อัน เป็นวันเริ่มแรกที่เขาประกาศให้ประชาชนทุกคน ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่อำเภอ หรือสำนักทะเบียนในเขตที่อยู่ภายใน 15 วันนับแต่เกิดมา ตามที่กฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นก็ถือเป็นบุคคลประเภท 1 และจะมีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1
  • ประเภทที่ 2 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่า
    เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป
    แล้ว บังเอิญว่าพ่อแม่ผู้ปกครองลืมหรือติดธุระ ทำให้ไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกฎหมายกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลัง เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2
  • ประเภทที่ 3 คือ คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
    ในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527)หมายความว่า บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทย
    หรือ คนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3
  • ประเภทที่ 4 คือ คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า
    โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว
    ที่ อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่น ก่อนช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที เช่น
    ส้มจี๊ดมีชื่อ อยู่ในสำนักทะเบียนเขตคลองสาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ส้มจี๊ดก็ขอย้ายบ้านไปเขตดุสิต โดยที่ส้มจี๊ดยังไม่ทันได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสาน
    พอแจ้งย้ายเข้าเขตดุสิต ส้มจี๊ดก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 4 มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 4 กลายเป็น 4 1001
    01245 29 9 ทันที แต่ถ้าส้มจี๊ดย้ายจากเขตคลองสานเดิม ไปเขตดุสิต หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527
    ส้มจี๊ดก็ยังเป็นบุคคลประเภท 3 อยู่ เพราะถือว่าจะได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสานแล้ว
    จะย้ายอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง

    การกำหนดให้บุคคลเริ่มมีเลขประจำตัว 13 หลักในทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1
    มกราคม 2527 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 อันเป็นวันสุดท้าย ของการดำเนินการให้ประชาชน
    ที่ ไม่มีเลขประจำตัวในบัตรหรือทะเบียนบ้าน ได้มีเลขประจำตัวจนครบแล้วนั้น ก็เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดเลขประจำตัวดังกล่าวมาก่อน เลย ดังนั้น ช่วงที่ว่าจึงเป็นระยะเวลาจัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง เพราะหลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 แล้ว
    ทุกคนจะต้องมีเลขประจำตัวเพื่อสำแดงตนว่า เป็นบุคคลประเภทใด โดยดูตามเงื่อนไขในแต่ละกรณี ซึ่งมีอีก 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 5-8
  • ประเภทที่ 5 คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อ เข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจ หรือกรณีอื่นๆ
    เช่น ส้มจี๊ดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตดุสิตอยู่แล้ว
    แต่ บังเอิญว่าตอนที่มีการสำรวจรายชื่อผู้อยู่ในบ้าน เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคทำให้ชื่อของส้มจี๊ดหายไปจากทะเบียนบ้าน เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่และตรวจสอบแล้วว่าตกสำรวจจริง
    หรือจะเป็นเพราะกรณีอื่นใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จะเพิ่มชื่อให้
    แต่ส้มจี๊ดก็จะมีหมายเลขในทะเบียนบ้านเป็นบุคคลประเภท 5 และบัตรประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลข 5 ทันที คือ
    กลายเป็น 5 1001 01245 29 9
  • ประเภทที่ 6 คือ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
    แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย
    เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดน หรือชาวเขา
    กลุ่ม นี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภริยาคนไทย จึงไปขอทำทะเบียนประวัติ เพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภริยา คนทั้งสองแบบที่ว่า ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6
  • ประเภทที่ 7 คือ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย
    คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 เช่น 7 1012 2345 133
  • ประเภทที่ 8 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็น สัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย ตั้งแต่หลังวันที่ 31
    พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เลขในทะเบียนประวัติจะขึ้นด้วยเลข 8

    คน ทั้ง 8 ประเภทนี้ จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้น ที่จะมีบัตรประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 15 ปี
    แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้นจะไม่มีการออกบัตรประชาชนให้
หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5
หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้านในขณะให้เลขสำหรับเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงถิ่นที่เกิดเลยทีเดียว
- โดยหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงจังหวัด
- หลักที่ 4 และ 5 หมายถึงอำเภอหรือเทศบาล

หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10
หมายถึงกลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก หรือหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตรแล้วแต่กรณี

หลักที่ 11 และ 12
หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภทหรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่มแล้วแต่กรณี

หลักที่ 13
คือ ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลข 12 หลักแรก
ตัวเลข 13 หลักที่กล่าวข้างต้น อันเป็นเลขประจำตัวประชาชนของแต่ละคนนี้
แม้จะมิใช่ตัวเลขที่เราต้องใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ยกเว้นใช้ในการกรอกเอกสารบางอย่าง เช่น
การเปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ แต่เลขนี้ก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการสำแดงตัวตน
ความเป็นคนไทยหรือคนในประเทศไทย ที่ทำให้เราสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทย
และใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


Pages