วันอังคาร, เมษายน 17, 2561

น้ำปลาไทย-เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย

  น้ำปลา คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวมีรสเค็ม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหาร เป็นผลิตผลที่ ได้จากการหมักปลากับเกลือซึ่งเป็นกรรมวิธีการแปรรูป ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเอเชีย อาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำน้ำปลามากที่สุดประเทศหนึ่ง นอกจากความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว น้ำปลายังมีความสำคัญทางด้านโภชนาการ อีกด้วย น้ำปลาประกอบด้วยเกลือ 27-28 กรัม, สารอินทรีย์ไนโตรเจน 0.6-2 กรัม, แอมโมเนียม ไนโตรเจน 0.2-0.7กรัม ใน100 มิลลิลิตรของน้ำปลา ซึ่งจะให้ไนโตรเจน แก่ร่างกาย 7.5% จากปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดที่ร่างกายได้รับเข้าไป 40 กรัมต่อคนต่อวันได้ทีการวิจัยพบว่า น้ำปลาเป็นแหล่งใหญ่ของเกลือแร่ และกรดอะมิโน ที่จำเป็นไม่น้อยกว่า 13 ชนิด โดยเฉพาะ “ไลซีน” (LYSINE) ซึ่งมีปริมาณสูงพอที่จะทดแทน การขาดไลซีนในคนที่ รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ น้ำปลายังมีสารอาหาร ที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ วิตามินบี 12 ซึ่งมีค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วร่างกายของคน ต้องการวิตามินบี 12 เฉลี่ยคนละ 1 ไมโครกรัม ต่อวันจากการศึกษาพบว่า ถ้ารับประทานน้ำปลาแท้เพียงวันละ 10-15 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ก็จะทำให้ร่างกายได้รับ วิตามินบี 12 ส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับที่ได้รับจากอาหาร อื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อย ก็จะมีปริมาณเพียงพอต่อ ร่างกาย และทำให้ปลอดภัยจากโรคโลหิตชนิดเม็ดเลือดแดงโตได้ น้ำปลาในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ฟิลิปินส์ เรียกว่า “ปาทิส” (Patis), เวียดนาม เรียกว่า “น็อกมั่ม” (Nuocmam) เป็นต้น กรรมวิธีการผลิต
        การใช้ปลาหมักกับเกลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการปรุงรสอาหารนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไป เพียงแต่ความนิยมในการใช้อาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมอาหารการกินของแต่ละชนชาติ
โดยจะว่าไปแล้วมนุษย์เรียนรู้การใช้เกลือเพื่อการถนอมอาหารกันมานานหลายร้อยปีแล้ว การหมักปลากับเกลือนั้นถือเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ล้วนทำกันทั้งนั้น เนื้อสัตว์ที่ใช้ก็มักจะเป็นปลามากกว่าสัตว์อื่น ซึ่งนักชีวเคมีมาวิเคราะห์กันในภายหลังว่า เป็นเพราะเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ และยิ่งถ้าหมักทิ้งไว้นานๆ เนื้อปลาจะเป็นโปรตีนชนิดเดียวที่ถูกย่อยได้หมด ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล เพียงแต่ระยะเวลาในการหมักอาจต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของปลา อย่างเช่น ถ้าปลาตัวโตการย่อยก็จะช้าลง
          การใช้ปลาหมักกับเกลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการปรุงรสอาหารนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไป เพียงแต่ความนิยมในการใช้อาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมอาหารการกินของแต่ละชนชาติ
รูปภาพ1รูปภาพ2
                   หลักการง่าย ๆ ของการผลิตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการหมักน้ำปลา คือการใช้เกลือในการควบคุมจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการ เช่น จุลินทรีย์ก่อโรคที่จะติดมากับปลา น้ำทะเล และเกลือ รวมทั้งควบคุมปริมาณจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดการเน่าเสียของปลาด้วย ส่วนจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญได้จะสร้างเอนไซม์ขึ้นมา รวมทั้งเกลือจะทำให้มีการปลดปล่อยเอนไซม์จากตัวปลาที่ตายแล้ว เอนไซม์และจุลินทรีย์เหล่านี้ จะย่อยสลายเนื้อปลาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีน จนกลายเป็นของเหลวทำให้ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์และง่ายต่อการใช้งานของร่างกาย ทั้งทำให้เกิดกลิ่น และเกิดสารพวกชูรสทำให้ได้รสชาติที่อร่อย ส่วนสีของน้ำปลาเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของกรดอะมิโน หรือไขมัน กับน้ำตาลชนิดต่าง ๆ และจะมีสีเข้มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงและมีออกซิเจน โดยที่แสงสว่างนั้นไม่มีผลต่อการเกิดสีน้ำตาลโดยตรง ปัจจุบันอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ในการหมักน้ำปลา จึงได้มีการปรับปรุงทำให้กระบวนการหมักเกิดได้เร็วขึ้น โดยพบว่าอุณหภูมิมีส่วนช่วยทำให้เอนไซม์ทำงานได้รวดเร็ว จึงมีความพยายามเพิ่มอุณหภูมิในการหมัก รวมทั้งมีการเติมเอนไซม์ กรด หรือด่าง ที่ช่วยให้เกิดการย่อยโปรตีนทำให้การหมักเกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถลดเวลาการหมักน้ำปลาลงได้อย่างมาก นอกจากนี้อาจมีการเติมสารปรุงแต่งสี สารแต่งกลิ่น และรส เพื่อช่วยให้น้ำปลาน่ารับประทานขึ้นอีกด้วย
รูปภาพ3รูปภาพ4
                    ประเทศทางแถบตะวันตกแม้จะใช้การหมักปลากับเกลือเหมือนกัน แต่ลักษณะการใช้จะนิยมใช้ปรุงอาหารในขณะที่เนื้อปลายังไม่ถูกย่อยสลายไปมากนัก คือยังเป็นชิ้นหรือเป็นตัวอยู่ เช่น ปลาแอนโชวี่ (Anchovy) ที่ใช้ในการปรุงรสของอาหารตะวันตก ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียจะมีความหลากหลายของการใช้ปลามากกว่า ถ้าเป็นปลาหมักที่ยังเป็นตัวๆ หรือมีเนื้อให้กินได้ ก็อย่างเช่นพวกปลาเค็ม, ปลาร้า, ปลาเจ่า แต่ถ้าเป็นชนิดที่มีการแปรสภาพแล้ว เช่น น้ำกะปิ, น้ำเคย พวกนี้จะมีลักษณะเป็นของเหลวข้น ซึ่งบางแห่งก็นิยมเอาไปตากแดดกลายเป็นกะปิแผ่นหรือกะปิแห้ง ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้กินได้นานๆ
                  การแปรสภาพปลาหมักจนเป็นน้ำใสๆหรือที่เราเรียกว่า “น้ำปลา” นั้น ก็เห็นจะมีแต่ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาเท่านั้นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้เป็นตัวปรุงรสชาติอาหาร บางคนจึงสันนิษฐานว่าเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล จึงได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำปลาไว้ใช้ ซึ่งก็น่าจะถูกเป็นบางส่วน แต่ทำไมประเทศในเอเชียอย่างพม่า อินโดนีเซีย ซึ่งก็อยู่ใกล้ทะเลเหมือนกันกลับไม่ใช้น้ำปลา แต่ใช้กะปิปลาหรือที่เรียกว่า “งาปิ” ในการปรุงรสอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เคยมีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งค้นคว้าและสันนิษฐานไว้ได้น่าสนใจว่า ความคิดริเริ่มในการทำน้ำปลาในแถบอินโดจีนนั้นสืบเนื่องมาจากมีบางพื้นที่ที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้ไม่สามารถทำปลาเค็ม ปลาตากแห้งและกะปิได้ เพราะเป็นกรรมวิธีที่ต้องพึ่งพาแดดเป็นหลัก การหมักปลาในภาชนะที่มีฝาปิด เช่น ไห หรือกระเบื้องดินเผา จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด และถูกพัฒนาขึ้นในบางท้องถิ่นก่อนที่จะวิวัฒน์ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และประเทศใกล้เคียงด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ในบรรดาประเทศที่ใช้น้ำปลาเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และกัมพูชานั้น เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการผลิตน้ำปลาที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ และมีการใช้น้ำปลาในลักษณะที่แพร่หลายมาก่อนคนไทยหลายสิบปี
แหล่งกำเนิดของน้ำปลา
           น้ำปลาในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น ฟิลิปินส์ เรียกว่า “ปาทิส” (Patis), เวียดนาม เรียกว่า “น็อกมั่ม” (Nuocmam) เป็นต้น โดยที่เวียดนามนั้นมีแหล่งผลิดที่สำคัญอยู่บริเวณตำบลบินทวน (มีเกลือมาก) และบนเกาะพูโกก (Phu Quoc Island) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ปลาที่ใช้ทำน้ำปลาส่วนใหญ่คือพวกปลาแมว (Clupeidae or Anchovy) และปลาสละ (Carangidae) ต่างจากคนไทยที่นิยมใช้ปลาไส้ตันหรือปลากะตัก
วิธีทำน้ำปลาของคนเวียดนามก็คือ เอาปลามานวดด้วยมือ เอาเกลือใส่ แล้วบรรจุลงในภาชนะดินเผาซึ่งปิดแน่น และฝังดินทิ้งไว้หลายเดือน เมื่อจะใช้ก็ขุดขึ้นมาและเทน้ำด้านบนซึ่งเรียกว่า “หัวน้ำปลา” ออกมาใช้ ส่วนทางตอนใต้ของเวียดนามหรือบนเกาะพูโกกนั้นจะนิยมบรรจุปลาและเกลือลงในถังไม้ขนาดใหญ่และมีรูให้น้ำไหลออกทางก้นภาชนะ ซึ่งรองเอาไว้ด้วยเปลือกหอยกับฟางข้าวเพื่อช่วยในการกรองทำให้ได้น้ำปลาที่มีสีใส ซึ่งกรรมวิธีในการทำน้ำปลาดังกล่าวมีส่วนคล้ายคลึงกับการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊วของคนจีนมาก จึงเป็นไปได้ว่าคนเวียดนามจะรับเอาเทคโนโลยีพื้นบ้านเหล่านี้มาจากจีน เพียงแต่วัตถุดิบที่ใช้แตกต่างกัน เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีปลามาก ประเทศเวียดนามจึงถือเป็นต้นตำรับของการทำน้ำปลาที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะน้ำปลาที่ทำจากเกาะพูโกกนั้นกล่าวกันว่าเป็นน้ำปลาชั้นยอด เพราะนอกจากจะไม่มีกลิ่นคาวแล้ว ยังมีกลิ่นคล้ายเนยด้วย ซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาทำสงครามในเวียดนามติดอกติดใจกันเป็นอันมาก จนกระทั่งมีการผลิตน้ำปลากระป๋องส่งไปยังกองทัพฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกกันเลยทีเดียว
รูปภาพ5รูปภาพ6
        การใช้น้ำปลาแพร่มาสู่คนไทยได้อย่างไรและตั้งแต่เมื่อไรนั้น น่าเสียดายว่าไม่เคยมีการบันทึกไว้อย่างจริงๆจังๆ มีเพียงแต่ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากคนจีนเช่นเดียวกันกับเวียดนามเพราะคนไทยมีการติดต่อค้าขายกับจีนมานาน บ้างก็ว่าคนไทยค่อยๆเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาเอง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับการทำปลาร้า ปลาเจ่า หรือน้ำเคยของทางภาคใต้ บ้างก็ว่าเป็นการค้นพบโดยความบังเอิญหลังจากที่หมักปลาทิ้งเอาไว้นานๆจนปลาถูกย่อยเกือบหมด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าน่าจะมีอิทธิพลของวัฒนธรรมอาหารการกินที่ซ้อนทับกันอยู่นั้น เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการอธิบายด้วย
รูปภาพ7รูปภาพ8
การแพร่หลายของน้ำปลาไทย
บางคนยังเข้าใจว่าสมัยก่อนที่ใช้น้ำปลาคงมีแต่ชาวประมงที่อยู่ติดทะเล ความจริงแล้วคนภาคกลางนี่แหละที่มีการใช้น้ำปลามากกว่าภาคอื่นๆ เพราะแต่ก่อนมีการทำน้ำปลาจากปลาสร้อยที่เรียกกันว่า “น้ำปลาปลาสร้อย” ซึ่งคนโบราณบอกว่ารสชาติดีมาก และอร่อยกว่าน้ำปลาที่ทำมาจากปลาทะเลเสียอีก แต่เดี๋ยวนี้หากินค่อนข้างยากเพราะไม่ค่อยมีปลาสร้อยให้จับแล้ว โรงงานผลิตน้ำปลาปลาสร้อยที่ยังเหลืออยู่ก็เห็นจะมีเพียง 1-2 แห่ง คือ ที่นครสวรรค์แห่งหนึ่ง และที่พิจิตรอีกแห่งหนึ่ง ในตอนหลังจึงมีการใช้น้ำปลาที่ทำมาจากปลาทะเลพวกปลาไส้ตัน (Stolephorus) และปลากะตัก (Clupeoidie) มากขึ้น ถึงแม้จะให้รสชาติที่แตกต่างไปบ้างแต่ก็ช่วยให้มีน้ำปลาไว้ใช้โดยไม่ขาดแคลน เพราะอาหารไทยบางชนิด เช่น ต้มยำ ส้มตำ ถ้าขาดน้ำปลาเสียแล้วก็คงไม่ถึงรสชาติ ทำให้หมดอร่อยไปเหมือนกัน การผลิตน้ำปลาในรูปของอุตสาหกรรมจึงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เพราะคนที่เคยกินน้ำปลา พอไม่มีน้ำปลาก็รู้สึกขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง ครั้นจะทำเองก็ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน ปลาก็หายากขึ้น การซื้อน้ำปลาที่ผลิตแบบสำเร็จรูปมาแล้วจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งทำให้การบริโภคน้ำปลาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
รูปภาพ9รูปภาพ10
               ความต้องการบริโภคน้ำปลานั้นไม่ได้จำกัดอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ยังมีคนไทยและคนเอเชียในต่างแดนอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดน้ำปลาไม่ได้ เพราะคุ้นเคยกับการกินอาหารที่ใช้น้ำปลามาแต่ไหนแต่ไร คนที่เคยไปอยู่ต่างประเทศนานๆ จึงมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคิดถึงอาหารไทย และถ้าวันไหนนึกอยากทำอาหารไทยกินเองล่ะก็สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ น้ำปลา จนบางคนต้องหาน้ำปลาพกติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นอีกแล้วเพราะน้ำปลาไทยมีวางขายอยู่ทั่วไปในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีน้ำปลาไทยไว้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกันอย่างทั่วถึง
น้ำปลาไทยครองตลาดโลก
                       ปัจจุบันได้มีการควบคุมคุณภาพของน้ำปลาในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีคนไทยบางคนใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ผิด เช่น ใช้น้ำสีหรือน้ำต้มกระดูกมาผสมกับเกลือ แล้วนำมาหลอกขายเป็นน้ำปลา ทำให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีน และคุณสมบัติอื่น ๆ ทั้งทางด้านสารอาหารและสาธารณสุขของน้ำปลาเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีสมกับราคา และไม่เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภค และจากการผลิตน้ำปลาในครัวเรือนทั่วไปได้มีการพัฒนาสู่โรงงานอุตสาหกรรม มีการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด และถูกหลักอนามัย ทำให้คุณภาพเป็นที่น่าเชื้อถือได้ จึงมีการส่งออกน้ำปลาไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และไกลออกไป ทั้งในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งในประเทศอเมริกาด้วย รูปภาพ12 รูปภาพ13
                       ความแพร่หลายของน้ำปลาไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศได้มีส่วนทำให้ตลาดการ บริโภคน้ำปลาขยายตัวอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตน้ำปลาเกิดความตื่นตัวและแข่งขันกันพัฒนาประสิทธิภาพของการผลิตกันยกใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีด้านการผลิต การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการปรับปรุงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่น่าใช้ มีการบรรจุในซอง ขนาดเล็ก เพื่อการใช้งานที่สะดวกในทุกสถานที่ และยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้น้ำปลาสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก แถมยังสามารถตอบสนองกลุ่มผุ้บริโภคได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การหันมาผลิตน้ำปลาซองของโรงงานน้ำปลาพิไชย (ผู้ผลิตน้ำปลาตราหอยนางรม) ที่ทำให้พกพาง่าย สะดวกแก่การใช้ในยามจำเป็นหรือขณะเดินทาง จนสายการบินบางแห่งหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้กันมากขึ้น ทุกวันนี้น้ำปลาไทยจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก อีกทั้งมีรสชาติเป็นที่ถูกใจผู้นิยมใช้น้ำปลาทั้งหลาย แม้แต่ประเทศต้นตำรับอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็ยังหันมาซื้อน้ำปลาไทยกันไม่น้อย
ปัจจุบันประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมการประมงที่บูมมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลเองก็มีนโยบายส่งเสริมอุตหาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการตลาดและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนาจนประสบความสำเร็จในเวทีตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงแต่นำรายได้เข้าประเทศเท่านั้น ยังถือเป็นความภูมิใจของคนไทยอีกด้วย


น้ำปลาสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของกรรมวิธีการผลิต ได้ดังนี้
1. ปลาแท้ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่ได้มาจากการหมักปลาหรือส่วนของปลากับเกลือ หรือกากปลาที่เหลือจากการหมักกับน้ำเกลือ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้น้ำปลาประเภทนี้ต้องมีปริมาณของไนโตรเจนรวม ( total nitrogen) มากกว่า 9 กรัมต่อลิตร
2. น้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่น คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวซึ่งได้มาจากการหมักสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก หรือการย่อยสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ปลา หรือส่วนของสัตว์อื่น หรือกากของสัตว์อื่นที่เหลือจากการหมักตามกรรมวิธีการผลิตน้ำปลา และให้ความหมายรวมถึงน้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่นที่มีน้ำปลาแท้ผสมอยู่
3.น้ำปลาผสม คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการนำน้ำปลาแท้ หรือน้ำปลาที่ทำจากสัตว์ชนิดอื่นมาเจือปนหรือเจือจางด้วยสิ่งอื่น หรือมีการปรุงแต่งกลิ่นรสโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้น้ำปลาประเภทนี้ต้องมีปริมาณของไนโตรเจนรวม ( total nitrogen) มากกว่า 4 กรัมต่อลิตร หากมีปริมาณน้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ถือว่าเป็นน้ำเกลือปรุงรส

ที่มา: https://phaewmon.wordpress.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%882-2/

มะละกอ มาจากไหนกันนะ

            มะละกอ มาจากไหน

            แหล่งกำเนิดมะละกอ  มะละกอเป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก และคอสตาริกา โดยสเปนเอาพันธุ์มะละกอมาจากฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามา และโคลัมเบียมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2069 ตรงกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยเริ่มทดลองปลูกที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ก่อน และชาวโปรตุเกสเอาพันธุ์มะละกอเข้ามาปลูก ที่เมืองมะละกาของประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2314 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากนั้นจึงนำมะละกอไปปลูกทางอินเดียต่อไปซึ่งในยุคพระเจ้าตากสินมหาราช  ชาวกรุงธนบุรีก็ยังไม่รู้จักมะละกอ
             แต่เมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ชาวสยามถึงเริ่มรู้จักพืชชนิดหนึ่งที่ได้พันธุ์จากเมืองมะละกา จึงเรียกพืชชนิดนั้นว่า มะละกา แต่เพี้ยน เป็น มะละกอ จนมาถึงปัจจุบัน
 มะละกอโดยทั่วไปจะเรียก papaya 
 ส่วนประเทศบราซิล เรียกว่า mamao 
 ประเทศเวเนซูเอลาและโปรตุเกสเรียกว่า lechoso 
ในคิวบาเรียกว่า fruita bomba
 มาเลเซียเรียก kepaya หรือ katela หรือ ketek
 ส่วนบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก แอฟริกา และ สหราชอาณาจักร เรียกว่า pawpaw หรือ     papaw 
 ในประเทศไทยก็มีชื่อเรียกมะละกอที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเช่นกัน คือ
 ภาคเหนือเรียก มะก้วยเต็ด
 ภาคกลาง เรียก มะละกอ 
 ภาคอีสานเรียก บักหุ่ง
 และภาคใต้เรียก ละกอ

การเดินทางของส้มตำ

ส้มตำ(Somtam)

       ประวัติส้มตำ
       คนมักเข้าใจกันผิดว่าส้มตำเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคอีสานหรือของลาว แท้จริงแล้วส้มตำเป็นอาหารสมัยใหม่ถือกำเนิดมาราว 40 ปีเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่นำเข้ามาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพ และตัดถนนมิตรภาพเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สู้รบ พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอไปปลูกสองข้างทางของถนนมิตรภาพ มะละกอจึงเผยแพร่ไปสู่ภาคอีสาน เปิดโอกาสให้ชาวอีสานได้ประดิษฐ์ส้มตำขึ้น
        ส้มตำ เป็นอาหารที่คนอีสานชอบและกิน กินกับข้าวเหนียวหรือกินเล่นๆ ก็ได้ คนภาคอีสานและภาคเหนือเรียกว่า ตำส้ม การทำส้มตำทำง่ายๆ คือ นำมะละกอที่แก่จัดมาปลอกเปลือกออก ล้างเอายางออกให้สะอาดแล้วสับไปตามทางยาวของลูกมะละกอ สับได้ที่แล้วก็ซอยออกเป็นชิ้นบางๆ จะได้มะละกอเป็นเส้นเล็กๆ ปลายเรียว เมื่อได้ปริมาณมากตามต้องการแล้ว ต่อไปก็เตรียม พริก กระเทียม มะนาว น้ำปลา ถ้าเป็นส้มตำแบบอีสานแท้นั้นใช้น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาหรือจะใช้ทั้งสองอย่าง
         เมื่อเตรียมทุกอย่างครบแล้วก็นำ พริก กระเทียมมาใส่ลงในครก ใช้สากตำละเอียดพอประมาณ ใส่มะละกอที่ซอยไว้แล้วลงไป ตำให้พริก กระเทียม มะละกอคลุกเคล้ากันให้เข้ากันดี หากเตรียมมะเขือเทศและถั่วฝักยาวมาด้วยก็จะฝานผสมลงไป เติมมะนาว น้ำปลาร้า และน้ำปลา ตำคลุกเคล้ากันดีแล้ว ตักชิมรสดู เติมเปรี้ยวหรือเค็มตามต้องการ แล้วตักใส่จาน กินกับข้าวเหนียวได้พร้อมกับกับข้าวอย่างอื่น คนอีสานกินส้มตำเป็นกับข้าวได้ทุกมื้อ
         ต่อมาตำส้มของชาวอีสานแพร่หลายลงมาภาคกลาง อาจเนื่องมาจากชาวอีสานมาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ตำส้มแบบอีสานก็แพร่หลายในกรุงเทพและส่วนอื่นๆของประเทศไทย โดยเฉพาะร้านข้าวเหนียวส้มตำจะแพร่หลายอยู่ตามกลุ่มคนงานชาวอีสาน
          นอกจากส้มตำก็จะมีไก่ย่าง ปลาดุกย่างและอาหารอื่นๆด้วย ส้มตำเลยเป็นที่นิยมแพร่หลาย การทำส้มตำ จึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนภาคกลาง เช่น เพิ่มน้ำตาลให้มีรสหวาน เพิ่มถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง ตัดปลาร้าออกใช้แต่น้ำปลาเป็นต้น ส้มตำ หรือ ตำส้มจึงมีรสดั้งเดิมแบบอีสาน หรือแบบภาคกลาง เรียกว่า ตำไทย ซึ่งออกรสหวาน ยิ่งกว่านั้นยังมีการเพิ่มปูดองเข้าไปอีกเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น

           ตำส้มของชาวอีสาน ไม่เฉพาะแต่มะละกอเท่านั้น ผลไม้อย่างอื่นที่ยังไม่สุกก็นำมาทำเป็นตำส้มได้ เช่นขนุนอ่อน มะม่วง มะยม เป็นต้น ปัจจุบัน ส้มตำมิใช่แพร่หลายเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น ส้มตำแพร่หลายออกไปจนกลายเป็นอาหารที่นานาชาติรู้จักและเป็นอาหารจานโปรดของนักท่องเที่ยวที่โรงแรมชั้นหนึ่งทุกแห่ง ที่สำคัญ ทหารอเมริกันที่มารบกับเวียดนาม มาประจำที่ฐานทัพในประเทศไทย ต่างก็ติดใจตำส้มอีสาน นำไปเผยแพร่ที่อเมริกาจนรู้จักกันไปทั่วโลกทีเดียว


ส้มตำแบบต่างๆ



ส้มตำไทย ไม่ใส่ปูและปลาร้า แต่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ บางถิ่นอาจใส่ปูดองเค็มด้วย เรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปู
ส้มตำปู ใส่ปูเค็มแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ
ส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้าแทนกุ้งแห้ง นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำซั่ว ใส่เส้นขนมจีนแทนเส้นมะละกอ นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำป่า ใส่ผักหลายชนิด เช่น ผักกระเฉด ผักกาดดอง ปลากอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว รวมถึงหอยแมลงภู่ จะนิยมรับประทานในภาคอีสาน
• นอกจากนี้ ยังมีบางที่ นำเอาผักหรือผลไม้ดิบ อย่างเช่น มะม่วงดิบ ใส่แทนมะละกอดิบ เรียกว่า "ตำมะม่วง, "กล้วยดิบ เรียกว่า "ตำกล้วย"], แตงกวา เรียกว่า "ตำแตง", ถั่วฝักยาว เรียกว่า "ตำถั่ว" และแครอทดิบ เป็นต้น ถ้าใช้ผลไม้หลายๆ อย่างเรียกว่า ตำผลไม้
• นอกจากนี้ยังมีการใส่วัตถุดิบอย่างอื่นลงไป เช่น ใส่ปูม้าเรียกว่า ส้มตำปูม้า ใส่หอยดองเรียกว่า ส้มตำหอยดอง

ส่วนผสมหลักของส้มตำ

• มะละกอสับ 400 กรัม
• น้ำปรุงส้มตำ 120 กรัม
• ถั่วฝักยาว 80 กรัม
• มะเขือเทศ 120 กรัม
• พริกขี้หนู 5 กรัม
• กุ้งแห้ง 25 กรัม
• กระเทียม 8 กรัม
• น้ำมะนาว 20 กรัม

วิธีทำส้มตำ

• โขลก พริก และกระเทียมพอแหลก
• ใส่มะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กุ้งแห้ง โขลกพอให้มะละกอช้ำนิดหน่อย
• ใส่น้ำปรุงส้มตำ และแต่งรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวอีกเล็กน้อย รับประทานกับผักสด เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้งไทย ถั่วฝักยาว
------------------------------------------------

วันศุกร์, สิงหาคม 15, 2557

มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร



มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร

     ....จำไม่ได้แล้วว่าได้ยินเรื่องของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรมาจากที่ใด แต่สาระของเรื่องนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในจิตใจและกลับมาให้แง่คิดในหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งนั่นมาพร้อมกับความสุขและความอิ่มใจ เรื่องราวของช้อนยาวหนึ่งเมตรนี้เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ในบางครั้งการจะทำอะไรให้สำเร็จ เราก็แค่เพียงตักอาหารที่ดีที่สุดแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงข้ามเรา แทนที่จะพยายามตักอาหารที่อร่อยที่สุด แล้วพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะป้อนใส่ปากเรา ทั้งทั้งที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรที่ใช้ตักอาหารนั้นไม่มีทางทำให้เราอิ่ม...
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ได้มีชายคนหนึ่งอยากรู้เหลือเกินว่า นรก กับ สวรรค์ ต่างกันอย่างไร ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่กำลังหลับได้มีเทวดาองค์หนึ่งพาเขาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนั้นงดงามจนสุดจะบรรยาย มีต้นไม้ร่มรื่น มีลมพัดเย็น ดูแล้วน่าจะเป็นสวรรค์มากกว่านรก เทวดาได้พาชายหนุ่มคนนั้นมาหยุดที่ห้องห้องหนึ่ง ภายในห้องนั้นประดับประดาไปด้วยอัญมณีและสิ่งของมีค่า กว้างขวาง โอ่อ่า ตรงกลางห้องมีโต๊ะกินข้าวกว้างประมาณหนึ่งเมตร มีผู้คนทั้งชายหญิงนั่งคละกันไปแต่แบ่งเป็นสองฝั่งแค่เงยหน้าทุกคนก็จะเห็นคนอีกฝั่งได้อย่างชัดเจน ตรงหน้าของแต่ละคนมีจานอาหารหนึ่งใบพร้อมด้วยอาหารรสเลิศที่ดูดีมีสีสันน่ากิน และอาหารแต่ละคนล้วนตักมาจนพูนจาน ทางด้านขวามือของแต่ละคนมีช้อนคนละหนึ่งคัน แต่...ช้อนนั้นมีความยาวประมาณหนึ่งเมตรและมีด้ามจับอยู่ตรงปลาย ชายหนุ่มสังเกตเห็นรูปร่างแต่ละคนในห้องนั้นล้วนผอมโซแล้ว ยิ่งทำให้เขาประหลาดใจนัก  เจ้ามาได้เวลาอาหารกลางวันพอดี กฎของที่นี่คือทุกคนต้องใช้ช้อนตักอาหารเท่านั้น และมีเวลากินเพียงสิบห้านาที เทวดากล่าว เริ่มได้.... สิ้นเสียงของคำพูด ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะกินข้าว ต่างก็รีบหยิบช้อนขึ้นมาตักอาหารอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความยาวของช้อน กว่าจะตักแล้วยื่นใส่ปาก ก็ลำบากมาก แถมกว่าจะส่งเข้าปาก อาหารนั้นก็หกหล่นตามพื้นเต็มไปหมดเนื่องจากมือที่สั่น  ที่เหลือติดช้อนนั้นก็มีเพียงนิดเดียว และยิ่งเวลากระชั้นชิดเข้ามา ทุกคนต่างก็ยิ่งรีบ ยิ่งรีบก็ยิ่งหก  นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ทุกคนที่นี่ล้วนดูอดอยากทั้งที่มีอาหารดี ๆ อยู่เต็มไปหมด ชายหนุ่มคิด...ก่อนจะเดินออกมาจนสังเกตเห็นประตูหน้าห้องที่เขียนว่า ...ห้องสำหรับคนตกนรก....
       ถัดจากห้องสำหรับคนตกนรกมาอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน มีป้ายติดไว้ว่า ...ห้องสำหรับคนขึ้นสวรรค์...  ห้องนี้จะเป็นอย่างไรกันนะ มันคงจะแตกต่างจากห้องนรกน่าดู    แต่เมื่อเทวดาเปิดประตูออกมา ก็ทำให้เขาประหลาดใจเพราะทุกอย่างในห้องล้วนเหมือนกันกับห้องที่เขาเพิ่งเดินออกมารวมทั้งกฏในการทานอาหาร จะแตกต่างกันก็แต่เพียง ผู้คนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนหน้าตาแจ่มใส ผิวพรรณผุดผ่อง พูดคุยกันราวกับเพื่อนสนิท ทำไมไม่เห็นหิวโซเหมือนห้องเมื่อกี้เลย ชายหนุ่มคิดในใจ
      เริ่มทานอาหารได้ เมื่อสิ้นเสียงทุกคนที่อยู่ในห้องนั้น ต่างก็ค่อย ๆ ใช้ช้อนยาวหนึ่งเมตรนั้นตักอาหารที่อยู่ตรงข้ามกับตนแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงกันข้าม ผลัดกันไปมาด้วยความเรียบร้อย โดยไม่มีอาหารตกหล่นและวุ่นวาย เพียงสิบนาทีทุกคนก็ได้กินอาหารจนอิ่ม .....
         ผมรู้แล้วว่านรกกับสวรรค์ต่างกันอย่างไร ชายหนุ่มกล่าวกับเทวดาในขณะที่เทวดาพาเขามาส่งยังห้องนอนของเขา

…..แล้วคุณล่ะ  รู้หรือยัง..?
.....สำหรับผมรู้เพียงว่าทุกคนจะมีความสุขถ้าเรารู้จักคำว่า แบ่งปัน

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 14, 2557

คำศัพท์ด้านทะเล



เพิ่มพูนคำศัพท์
คำศัพท์ด้านทะเล

Gravelly beach : ชายหาดที่มีแต่ก้อนกรวด                                        
Exposed sandbar : สันดอนทรายโล่งไม่มีที่กำบัง
Group of dolphins : ฝูงปลาโลมา
Lace-up sandal : รองเท้าแตะผูกเชือก
Scuba mask : หน้ากากดำน้ำ
One-piece swimsuit : ชุดว่ายน้ำชิ้นเดียว
Dig  for clams : ขุดหาหอยกาบ
Turn a boat’s stern : หันท้ายเรือ
Tread water : ลุยน้ำ
Sea cow : พยูน
Sea serpent : งูทะเล
Sea horse : ม้าน้ำ
Sail : แล่นเรือ
Splash : (น้ำ) กระเซ็น
Sink : จม
Of lighthouses : เกี่ยวกับประภาคาร
Of sand : เกี่ยวกับทราย
Of seas and oceans : เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทร
Polluted : มลพิษ
Pertaining to mollusks : เกี่ยวข้องกับสัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก
Along a seashore : ตามชายฝั่งทะเล
Tropical breeze : ลมอ่อน ๆ เขตร้อนชื้น
Floating seaweed : สาหร่ายทะเลที่ลอยอยู่ในน้ำ
Warming current : กระแสน้ำที่อุ่นขึ้น
Seasickness : เมาเรือ
Undertow : กระแสใต้น้ำ
Monster : สัตว์ประหลาด
Raise a mainsail : ยกใบเรือใหญ่ของเรือใบ
Move like waves : เคลื่อนไหวราวกับคลื่น
Skinny-dip : ว่ายน้ำแบบเปลือยกาย
Shell expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านหอย
Shark expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม
Erosion expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านการสึกกร่อน

ความแตกต่างของ Floatsam กับ Jetsam
Floatsam คือสิ่งของที่บังเอิญหลุดกระเด็นลอยน้ำออกมาหลังเรืออัปปาง
Jetsam คือสิ่งของที่ตั้งใจโยนออกมาเพื่อลดน้ำหนักกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจลอยมาเกยฝั่ง และสามารถอ้างสิทธิ์ได้ตามกฎหมายกรณีมีคนพบ

ที่มา : หนังสือ สรรสาระ (Reader’s Digest) ฉบับเดือนตุลาคม 2553 หน้าที่ 131

วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

ความเป็นมาของการกินเจ

กินเจสด รสธรรมชาติ

      ในเรื่องของการกินผัก นับเป็นความชาญฉลาดของอารยธรรมจีนที่กำหนดการกินเจปีละ 10 วันขึ้นมา คำว่า "เจ" แปลตรงตัวว่า "ผัก" คนจีนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าผักมีประโยชน์มากมายต่อร่างการย จึงต้องกำหนดให้คนเราอย่างน้อยต้องกินผักอย่างเต็มที่ปีละ 10 วัน ถึงแม้ว่าวัตรปฏิบัติดังกล่าวจะเจือปนด้วยความเชื่อ ความศรัทธาหรือใช้แนวคิดทางศาสนามาชี้นำก็ตามทีเถิด ในแต่ละวันคนเราอาจจะเผลอไม่กินผักบ้าง แต่สำหรับฤดูกาลกินเจ คนจีนโบราณต่างละเลิกเนื้อสัตว์ เลิกอาหารกลิ่นฉุน หันมากินผักกันถ้วนหน้า
       สำหรับความเป็นมาของการกินเจ มีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนคนจีนเคารพนับถือเชื้อพระวงศ์ผู้วิเศษซึ่งเป็นพี่น้องกันอยู่ 9 องค์ เมื่อทั้งหมดตายลง ต่างก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ หรือดาวที่อยู่เรียงกัน 9 ดวง คือดาวจระเข้ เทพทั้งเก้าเป็นผู้ถือบัญชีอายุขัยของคนบนโลกนี้ และสามารถต่ออายุของคนเราให้ได้ คนจีนเชื่อว่า ระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 ทวยเทพทั้งเก้าจะตรวจสอบบันทึกนี้ และจะบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละบุคคล ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สมควรที่ชาวโลกจะต้องประกอบกรรมดี ทำตัวดี ๆ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเลิกอาหารคาว ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ หันมาถือศีลกินเจ หรือกินผัก ทำเช่นนี้จะรอดพ้นจากการตรวจสอบ จึงจะมีอายุยืนยาว
        เห็นหรือยังว่าการกินเจนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมีสุขภาพดี และความมีอายุยืนยาว ขนาดคนจีนยังให้อรรถาธิบายเอาไว้เช่นนั้น ก่อนที่องค์การอนามันโลกจะประกาศให้กินผัก นับเป็นพัน ๆ ปีเลยทีเดียว
        แต่ก็ยังมีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับการกินเจสำนวนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน การกินเจเริ่มต้นตามวันทางจันทรคติของจีน คือเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน  สำหรับการกินเจจริง ๆ นั้น จะห้ามทานเนื้อสัตว์ทุกประเภทและรวมถึงห้ามพืชกลิ่นแรง 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม (รวมผักชี) หลักเกียว กู๋ไช่ และยาสูบ เพราะคนจีนเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมามีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ ทำให้จิตใจเร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย ทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวกันไม่ติด จึงถือเอาว่ามันเป็นสารพิษที่จะไปทำลายพลังธาตุทั้งห้าของร่างกาย ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงสมควรหลีกเลี่ยงในระยะถือศีลกินเจ
       อย่างไรก็ตามหากจะผสมผสานแนวคิดแบบจีนโบราณกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่ เอาเป็นว่าในฤดูกาลกินเจ หันมากินผักสดและผลไม้สดเป็นหลัก ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้น้อยที่สุด ให้เจของคุณเป็นเจสดรสธรรมชาติก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณมากกว่า
       แต่อย่าลืมว่า สมัยก่อนการกินเจแค่ปีละ 10 วัน อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ยังสะอาดบริสุทธิ์อยู่....แค่นั้นคนโบราณก็ฟื้นสุขภาพของตนได้แล้ว แต่สมัยนี้โลกของเราเต็มไปด้วยมลพิษและสารเคมีสารพัด เราอาจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กินผัก ผลไม้ ซึ่งต้องเน้นคำว่า "สด" ด้วย และย้ำอีกว่า ต้องกินทุกวัน วันละประมาณ 500 กรัม นั่นแหละเราจึงจะมีสุขภาพดี



ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 68 :พญ.ลลิตา ธีระสิริ คอลัมม์ เพื่อชีวิตและสุขภาพ

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

Pages