วันอังคาร, เมษายน 17, 2561

การเดินทางของส้มตำ

ส้มตำ(Somtam)

       ประวัติส้มตำ
       คนมักเข้าใจกันผิดว่าส้มตำเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคอีสานหรือของลาว แท้จริงแล้วส้มตำเป็นอาหารสมัยใหม่ถือกำเนิดมาราว 40 ปีเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่นำเข้ามาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพ และตัดถนนมิตรภาพเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สู้รบ พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอไปปลูกสองข้างทางของถนนมิตรภาพ มะละกอจึงเผยแพร่ไปสู่ภาคอีสาน เปิดโอกาสให้ชาวอีสานได้ประดิษฐ์ส้มตำขึ้น
        ส้มตำ เป็นอาหารที่คนอีสานชอบและกิน กินกับข้าวเหนียวหรือกินเล่นๆ ก็ได้ คนภาคอีสานและภาคเหนือเรียกว่า ตำส้ม การทำส้มตำทำง่ายๆ คือ นำมะละกอที่แก่จัดมาปลอกเปลือกออก ล้างเอายางออกให้สะอาดแล้วสับไปตามทางยาวของลูกมะละกอ สับได้ที่แล้วก็ซอยออกเป็นชิ้นบางๆ จะได้มะละกอเป็นเส้นเล็กๆ ปลายเรียว เมื่อได้ปริมาณมากตามต้องการแล้ว ต่อไปก็เตรียม พริก กระเทียม มะนาว น้ำปลา ถ้าเป็นส้มตำแบบอีสานแท้นั้นใช้น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาหรือจะใช้ทั้งสองอย่าง
         เมื่อเตรียมทุกอย่างครบแล้วก็นำ พริก กระเทียมมาใส่ลงในครก ใช้สากตำละเอียดพอประมาณ ใส่มะละกอที่ซอยไว้แล้วลงไป ตำให้พริก กระเทียม มะละกอคลุกเคล้ากันให้เข้ากันดี หากเตรียมมะเขือเทศและถั่วฝักยาวมาด้วยก็จะฝานผสมลงไป เติมมะนาว น้ำปลาร้า และน้ำปลา ตำคลุกเคล้ากันดีแล้ว ตักชิมรสดู เติมเปรี้ยวหรือเค็มตามต้องการ แล้วตักใส่จาน กินกับข้าวเหนียวได้พร้อมกับกับข้าวอย่างอื่น คนอีสานกินส้มตำเป็นกับข้าวได้ทุกมื้อ
         ต่อมาตำส้มของชาวอีสานแพร่หลายลงมาภาคกลาง อาจเนื่องมาจากชาวอีสานมาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ตำส้มแบบอีสานก็แพร่หลายในกรุงเทพและส่วนอื่นๆของประเทศไทย โดยเฉพาะร้านข้าวเหนียวส้มตำจะแพร่หลายอยู่ตามกลุ่มคนงานชาวอีสาน
          นอกจากส้มตำก็จะมีไก่ย่าง ปลาดุกย่างและอาหารอื่นๆด้วย ส้มตำเลยเป็นที่นิยมแพร่หลาย การทำส้มตำ จึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนภาคกลาง เช่น เพิ่มน้ำตาลให้มีรสหวาน เพิ่มถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง ตัดปลาร้าออกใช้แต่น้ำปลาเป็นต้น ส้มตำ หรือ ตำส้มจึงมีรสดั้งเดิมแบบอีสาน หรือแบบภาคกลาง เรียกว่า ตำไทย ซึ่งออกรสหวาน ยิ่งกว่านั้นยังมีการเพิ่มปูดองเข้าไปอีกเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น

           ตำส้มของชาวอีสาน ไม่เฉพาะแต่มะละกอเท่านั้น ผลไม้อย่างอื่นที่ยังไม่สุกก็นำมาทำเป็นตำส้มได้ เช่นขนุนอ่อน มะม่วง มะยม เป็นต้น ปัจจุบัน ส้มตำมิใช่แพร่หลายเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น ส้มตำแพร่หลายออกไปจนกลายเป็นอาหารที่นานาชาติรู้จักและเป็นอาหารจานโปรดของนักท่องเที่ยวที่โรงแรมชั้นหนึ่งทุกแห่ง ที่สำคัญ ทหารอเมริกันที่มารบกับเวียดนาม มาประจำที่ฐานทัพในประเทศไทย ต่างก็ติดใจตำส้มอีสาน นำไปเผยแพร่ที่อเมริกาจนรู้จักกันไปทั่วโลกทีเดียว


ส้มตำแบบต่างๆ



ส้มตำไทย ไม่ใส่ปูและปลาร้า แต่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ บางถิ่นอาจใส่ปูดองเค็มด้วย เรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปู
ส้มตำปู ใส่ปูเค็มแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ
ส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้าแทนกุ้งแห้ง นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำซั่ว ใส่เส้นขนมจีนแทนเส้นมะละกอ นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน
ตำป่า ใส่ผักหลายชนิด เช่น ผักกระเฉด ผักกาดดอง ปลากอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว รวมถึงหอยแมลงภู่ จะนิยมรับประทานในภาคอีสาน
• นอกจากนี้ ยังมีบางที่ นำเอาผักหรือผลไม้ดิบ อย่างเช่น มะม่วงดิบ ใส่แทนมะละกอดิบ เรียกว่า "ตำมะม่วง, "กล้วยดิบ เรียกว่า "ตำกล้วย"], แตงกวา เรียกว่า "ตำแตง", ถั่วฝักยาว เรียกว่า "ตำถั่ว" และแครอทดิบ เป็นต้น ถ้าใช้ผลไม้หลายๆ อย่างเรียกว่า ตำผลไม้
• นอกจากนี้ยังมีการใส่วัตถุดิบอย่างอื่นลงไป เช่น ใส่ปูม้าเรียกว่า ส้มตำปูม้า ใส่หอยดองเรียกว่า ส้มตำหอยดอง

ส่วนผสมหลักของส้มตำ

• มะละกอสับ 400 กรัม
• น้ำปรุงส้มตำ 120 กรัม
• ถั่วฝักยาว 80 กรัม
• มะเขือเทศ 120 กรัม
• พริกขี้หนู 5 กรัม
• กุ้งแห้ง 25 กรัม
• กระเทียม 8 กรัม
• น้ำมะนาว 20 กรัม

วิธีทำส้มตำ

• โขลก พริก และกระเทียมพอแหลก
• ใส่มะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กุ้งแห้ง โขลกพอให้มะละกอช้ำนิดหน่อย
• ใส่น้ำปรุงส้มตำ และแต่งรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวอีกเล็กน้อย รับประทานกับผักสด เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้งไทย ถั่วฝักยาว
------------------------------------------------

วันศุกร์, สิงหาคม 15, 2557

มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร



มุมมองของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตร

     ....จำไม่ได้แล้วว่าได้ยินเรื่องของช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรมาจากที่ใด แต่สาระของเรื่องนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในจิตใจและกลับมาให้แง่คิดในหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งนั่นมาพร้อมกับความสุขและความอิ่มใจ เรื่องราวของช้อนยาวหนึ่งเมตรนี้เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ในบางครั้งการจะทำอะไรให้สำเร็จ เราก็แค่เพียงตักอาหารที่ดีที่สุดแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงข้ามเรา แทนที่จะพยายามตักอาหารที่อร่อยที่สุด แล้วพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะป้อนใส่ปากเรา ทั้งทั้งที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าช้อนที่ยาวหนึ่งเมตรที่ใช้ตักอาหารนั้นไม่มีทางทำให้เราอิ่ม...
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ได้มีชายคนหนึ่งอยากรู้เหลือเกินว่า นรก กับ สวรรค์ ต่างกันอย่างไร ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่กำลังหลับได้มีเทวดาองค์หนึ่งพาเขาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนั้นงดงามจนสุดจะบรรยาย มีต้นไม้ร่มรื่น มีลมพัดเย็น ดูแล้วน่าจะเป็นสวรรค์มากกว่านรก เทวดาได้พาชายหนุ่มคนนั้นมาหยุดที่ห้องห้องหนึ่ง ภายในห้องนั้นประดับประดาไปด้วยอัญมณีและสิ่งของมีค่า กว้างขวาง โอ่อ่า ตรงกลางห้องมีโต๊ะกินข้าวกว้างประมาณหนึ่งเมตร มีผู้คนทั้งชายหญิงนั่งคละกันไปแต่แบ่งเป็นสองฝั่งแค่เงยหน้าทุกคนก็จะเห็นคนอีกฝั่งได้อย่างชัดเจน ตรงหน้าของแต่ละคนมีจานอาหารหนึ่งใบพร้อมด้วยอาหารรสเลิศที่ดูดีมีสีสันน่ากิน และอาหารแต่ละคนล้วนตักมาจนพูนจาน ทางด้านขวามือของแต่ละคนมีช้อนคนละหนึ่งคัน แต่...ช้อนนั้นมีความยาวประมาณหนึ่งเมตรและมีด้ามจับอยู่ตรงปลาย ชายหนุ่มสังเกตเห็นรูปร่างแต่ละคนในห้องนั้นล้วนผอมโซแล้ว ยิ่งทำให้เขาประหลาดใจนัก  เจ้ามาได้เวลาอาหารกลางวันพอดี กฎของที่นี่คือทุกคนต้องใช้ช้อนตักอาหารเท่านั้น และมีเวลากินเพียงสิบห้านาที เทวดากล่าว เริ่มได้.... สิ้นเสียงของคำพูด ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะกินข้าว ต่างก็รีบหยิบช้อนขึ้นมาตักอาหารอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความยาวของช้อน กว่าจะตักแล้วยื่นใส่ปาก ก็ลำบากมาก แถมกว่าจะส่งเข้าปาก อาหารนั้นก็หกหล่นตามพื้นเต็มไปหมดเนื่องจากมือที่สั่น  ที่เหลือติดช้อนนั้นก็มีเพียงนิดเดียว และยิ่งเวลากระชั้นชิดเข้ามา ทุกคนต่างก็ยิ่งรีบ ยิ่งรีบก็ยิ่งหก  นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ทุกคนที่นี่ล้วนดูอดอยากทั้งที่มีอาหารดี ๆ อยู่เต็มไปหมด ชายหนุ่มคิด...ก่อนจะเดินออกมาจนสังเกตเห็นประตูหน้าห้องที่เขียนว่า ...ห้องสำหรับคนตกนรก....
       ถัดจากห้องสำหรับคนตกนรกมาอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน มีป้ายติดไว้ว่า ...ห้องสำหรับคนขึ้นสวรรค์...  ห้องนี้จะเป็นอย่างไรกันนะ มันคงจะแตกต่างจากห้องนรกน่าดู    แต่เมื่อเทวดาเปิดประตูออกมา ก็ทำให้เขาประหลาดใจเพราะทุกอย่างในห้องล้วนเหมือนกันกับห้องที่เขาเพิ่งเดินออกมารวมทั้งกฏในการทานอาหาร จะแตกต่างกันก็แต่เพียง ผู้คนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนหน้าตาแจ่มใส ผิวพรรณผุดผ่อง พูดคุยกันราวกับเพื่อนสนิท ทำไมไม่เห็นหิวโซเหมือนห้องเมื่อกี้เลย ชายหนุ่มคิดในใจ
      เริ่มทานอาหารได้ เมื่อสิ้นเสียงทุกคนที่อยู่ในห้องนั้น ต่างก็ค่อย ๆ ใช้ช้อนยาวหนึ่งเมตรนั้นตักอาหารที่อยู่ตรงข้ามกับตนแล้วป้อนใส่ปากของคนที่อยู่ตรงกันข้าม ผลัดกันไปมาด้วยความเรียบร้อย โดยไม่มีอาหารตกหล่นและวุ่นวาย เพียงสิบนาทีทุกคนก็ได้กินอาหารจนอิ่ม .....
         ผมรู้แล้วว่านรกกับสวรรค์ต่างกันอย่างไร ชายหนุ่มกล่าวกับเทวดาในขณะที่เทวดาพาเขามาส่งยังห้องนอนของเขา

…..แล้วคุณล่ะ  รู้หรือยัง..?
.....สำหรับผมรู้เพียงว่าทุกคนจะมีความสุขถ้าเรารู้จักคำว่า แบ่งปัน

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 14, 2557

คำศัพท์ด้านทะเล



เพิ่มพูนคำศัพท์
คำศัพท์ด้านทะเล

Gravelly beach : ชายหาดที่มีแต่ก้อนกรวด                                        
Exposed sandbar : สันดอนทรายโล่งไม่มีที่กำบัง
Group of dolphins : ฝูงปลาโลมา
Lace-up sandal : รองเท้าแตะผูกเชือก
Scuba mask : หน้ากากดำน้ำ
One-piece swimsuit : ชุดว่ายน้ำชิ้นเดียว
Dig  for clams : ขุดหาหอยกาบ
Turn a boat’s stern : หันท้ายเรือ
Tread water : ลุยน้ำ
Sea cow : พยูน
Sea serpent : งูทะเล
Sea horse : ม้าน้ำ
Sail : แล่นเรือ
Splash : (น้ำ) กระเซ็น
Sink : จม
Of lighthouses : เกี่ยวกับประภาคาร
Of sand : เกี่ยวกับทราย
Of seas and oceans : เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทร
Polluted : มลพิษ
Pertaining to mollusks : เกี่ยวข้องกับสัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก
Along a seashore : ตามชายฝั่งทะเล
Tropical breeze : ลมอ่อน ๆ เขตร้อนชื้น
Floating seaweed : สาหร่ายทะเลที่ลอยอยู่ในน้ำ
Warming current : กระแสน้ำที่อุ่นขึ้น
Seasickness : เมาเรือ
Undertow : กระแสใต้น้ำ
Monster : สัตว์ประหลาด
Raise a mainsail : ยกใบเรือใหญ่ของเรือใบ
Move like waves : เคลื่อนไหวราวกับคลื่น
Skinny-dip : ว่ายน้ำแบบเปลือยกาย
Shell expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านหอย
Shark expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม
Erosion expert : ผู้เชี่ยวชาญด้านการสึกกร่อน

ความแตกต่างของ Floatsam กับ Jetsam
Floatsam คือสิ่งของที่บังเอิญหลุดกระเด็นลอยน้ำออกมาหลังเรืออัปปาง
Jetsam คือสิ่งของที่ตั้งใจโยนออกมาเพื่อลดน้ำหนักกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจลอยมาเกยฝั่ง และสามารถอ้างสิทธิ์ได้ตามกฎหมายกรณีมีคนพบ

ที่มา : หนังสือ สรรสาระ (Reader’s Digest) ฉบับเดือนตุลาคม 2553 หน้าที่ 131

วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

ความเป็นมาของการกินเจ

กินเจสด รสธรรมชาติ

      ในเรื่องของการกินผัก นับเป็นความชาญฉลาดของอารยธรรมจีนที่กำหนดการกินเจปีละ 10 วันขึ้นมา คำว่า "เจ" แปลตรงตัวว่า "ผัก" คนจีนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าผักมีประโยชน์มากมายต่อร่างการย จึงต้องกำหนดให้คนเราอย่างน้อยต้องกินผักอย่างเต็มที่ปีละ 10 วัน ถึงแม้ว่าวัตรปฏิบัติดังกล่าวจะเจือปนด้วยความเชื่อ ความศรัทธาหรือใช้แนวคิดทางศาสนามาชี้นำก็ตามทีเถิด ในแต่ละวันคนเราอาจจะเผลอไม่กินผักบ้าง แต่สำหรับฤดูกาลกินเจ คนจีนโบราณต่างละเลิกเนื้อสัตว์ เลิกอาหารกลิ่นฉุน หันมากินผักกันถ้วนหน้า
       สำหรับความเป็นมาของการกินเจ มีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนคนจีนเคารพนับถือเชื้อพระวงศ์ผู้วิเศษซึ่งเป็นพี่น้องกันอยู่ 9 องค์ เมื่อทั้งหมดตายลง ต่างก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ หรือดาวที่อยู่เรียงกัน 9 ดวง คือดาวจระเข้ เทพทั้งเก้าเป็นผู้ถือบัญชีอายุขัยของคนบนโลกนี้ และสามารถต่ออายุของคนเราให้ได้ คนจีนเชื่อว่า ระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 ทวยเทพทั้งเก้าจะตรวจสอบบันทึกนี้ และจะบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละบุคคล ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สมควรที่ชาวโลกจะต้องประกอบกรรมดี ทำตัวดี ๆ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเลิกอาหารคาว ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ หันมาถือศีลกินเจ หรือกินผัก ทำเช่นนี้จะรอดพ้นจากการตรวจสอบ จึงจะมีอายุยืนยาว
        เห็นหรือยังว่าการกินเจนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมีสุขภาพดี และความมีอายุยืนยาว ขนาดคนจีนยังให้อรรถาธิบายเอาไว้เช่นนั้น ก่อนที่องค์การอนามันโลกจะประกาศให้กินผัก นับเป็นพัน ๆ ปีเลยทีเดียว
        แต่ก็ยังมีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับการกินเจสำนวนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน การกินเจเริ่มต้นตามวันทางจันทรคติของจีน คือเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน  สำหรับการกินเจจริง ๆ นั้น จะห้ามทานเนื้อสัตว์ทุกประเภทและรวมถึงห้ามพืชกลิ่นแรง 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม (รวมผักชี) หลักเกียว กู๋ไช่ และยาสูบ เพราะคนจีนเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมามีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ ทำให้จิตใจเร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย ทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวกันไม่ติด จึงถือเอาว่ามันเป็นสารพิษที่จะไปทำลายพลังธาตุทั้งห้าของร่างกาย ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงสมควรหลีกเลี่ยงในระยะถือศีลกินเจ
       อย่างไรก็ตามหากจะผสมผสานแนวคิดแบบจีนโบราณกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่ เอาเป็นว่าในฤดูกาลกินเจ หันมากินผักสดและผลไม้สดเป็นหลัก ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้น้อยที่สุด ให้เจของคุณเป็นเจสดรสธรรมชาติก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณมากกว่า
       แต่อย่าลืมว่า สมัยก่อนการกินเจแค่ปีละ 10 วัน อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ยังสะอาดบริสุทธิ์อยู่....แค่นั้นคนโบราณก็ฟื้นสุขภาพของตนได้แล้ว แต่สมัยนี้โลกของเราเต็มไปด้วยมลพิษและสารเคมีสารพัด เราอาจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กินผัก ผลไม้ ซึ่งต้องเน้นคำว่า "สด" ด้วย และย้ำอีกว่า ต้องกินทุกวัน วันละประมาณ 500 กรัม นั่นแหละเราจึงจะมีสุขภาพดี



ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 68 :พญ.ลลิตา ธีระสิริ คอลัมม์ เพื่อชีวิตและสุขภาพ

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2555

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

        “ลืม...ผมหรือยังครับแฟน...เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง....”
บทเพลง “แฟนจ๋า” ที่ร้องออดอ้อนแฟนเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งนี้ ทำให้หลายคนที่ได้ฟัง อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเจ้าของผลงานเพลงคนนี้ เพราะเขาคือ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เมืองไทยเคยมีมา
สุรพล สมบัติเจริญ
         ผมเชื่อว่าถ้าใครเป็นแฟนเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ แล้วล่ะก็ ถ้าได้ยินเพลงนี้เข้า ต้องคิดถึงเขาแน่ ๆ คงไม่มีทางลืมเขาได้ลงคอ
        ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ วงการเพลงของโลก สูญเสีย เอลวิส เพรสลี่ย์ “ราชาเพลงร็อก แอนด์ โรล” ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวโลกรู้จักกันดี เขาจากไปพร้อมกับความโศกเศร้าเสียใจของเหล่าแฟนเพลงทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้น คนไทยทั้งประเทศก็ต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน กับการจากไปของ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม เช่นกัน แต่เป็นปี พ.ศ.๒๕๑๑
         ๑๖ สิงหาคม จึงเป็นวันที่แฟนเพลงต่างร่วมรำลึกถึงราชาเพลงผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนนี้ โดยเฉพาะรายการเพลงทางสถานีวิทยุต่าง ๆ คงเปิดเพลงของราชาเพลงทั้งคู่กันทั้งวันเลยทีเดียว
         เดิมทีเพลงลูกทุ่งนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเพลงในกลุ่มเดียวกันกับเพลงไทยสากล โดยยังไม่มีการแยกประเภทเพลงไทยสากลออกเป็น “ลูกทุ่ง” หรือ “ลูกกรุง” เพราะบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีในเวลานั้นต่างประสงค์ที่จะไม่ให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลออกจากกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แนวเพลงพื้นบ้านที่มีคำร้อง คำบรรยาย กล่าวถึงวิถีของชาวชนบท ชีวิตของหนุ่มบ้านนอก สาวบ้านนา และความยากจน ที่มีนักร้องกลุ่มหนึ่งในขณะนั้นนิยมร้อง ก็ถูกชาวบ้านเรียกขานกันว่าเป็น “เพลงตลาด”
          จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ รายการเพลงของสถานีไทยโทรทัศน์ ซึ่งจัดโดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ และเปิดเฉพาะ “เพลงตลาด” ที่ใช้ชื่อว่า “รายการเพลงลูกทุ่ง” นั้น กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดาผู้ฟัง ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เพลงลูกทุ่ง”  ก็ถูกแยกออกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดยปริยาย
          ในหนังสือกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” หมายถึง “เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติ และวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง”
สุรพล
          ความนิยมของวงดนตรีลูกทุ่งยุคนั้นนอกจากจะวัดกันที่พวงมาลัยที่เหล่าแฟนเพลงคล้องให้นักร้องจนท่วมหัวแล้ว ยังวัดกันที่การประชันวงกันแบบซึ่ง ๆ หน้า ชนิดที่เรียกได้ว่าหันหน้าชนกันครั้งละ ๓ – ๔ วง ตามงานประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่มีชื่อเสียงทางภาคกลาง เช่น จังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม หากแฟนเพลงไปรวมตัวกันชมดนตรีอยู่ที่หน้าวงไหนมากที่สุด ก็ถือกันว่าวงนั้นเป็นวงยอดนิยมของขวัญใจมหาชนตัวจริงเสียงจริง
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นผู้ที่ทำให้เพลงลูกทุ่งพุ่งผงาดอยู่ในความนิยมของวงการเพลง ด้วยลีลาและรูปแบบเฉพาะตัว การได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ก็เพราะความมีอัจฉริยะในตัวเองที่สามารถแต่งเพลงเองและร้องเพลงเองได้ด้วย
           เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ และมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ต่าง ๆ ที่กองทัพอากาศได้รับเชิญไปให้แสดง จนได้รับการสนับสนุนให้ได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง “น้ำตาลาวเวียง” ตามมาด้วยเพลง “ชูชกสองกุมาร” ที่ทำให้ “สุรพล สมบัติเจริญ” เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟน ๆ
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นคนที่มีใจฝักใฝ่ในการทำเพลงตลอดเวลา ไม่ว่าตนเองจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม คนใกล้ชิดคนหนึ่งของเขาเล่าว่า “ค่ำวันหนึ่ง สุรพล ชวนผมขี่รถเวสป้าคันโปรดเพื่อที่จะไปธุระด้วยกัน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย อยู่ ๆ เขาก็ฮัมขึ้นเป็นเพลงว่า หนาวจะตายอยู่แล้ว...ว...ว...และหลังจากนั้นไม่กี่วันก็กลายมาเป็นเพลงสุดฮิตอีกเพลงของเขา...หนาวจะตายอยู่แล้ว”
            นอกจากนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ยังทำหน้าที่เป็นครูเพลง ทั้งแต่งเพลงให้คนอื่นร้อง ทั้งปลุกปั้นนักร้องรุ่นน้องจนโด่งดังมีชื่อเสียงอีกมากมาย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เป็นต้น
           สุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่จังหวัดนครปฐม เมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี เขาจากไปโดยได้ทิ้งผลงานเพลงที่แต่งเองและร้องเองเป็นชิ้นสุดท้ายเอาไว้ นั่นคือเพลง “๑๖ ปีแห่งความหลัง” และยังเป็นเพลงสุดท้ายที่เขาร้องก่อนก้าวลงจากเวทีในคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๑ อีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือมอร์มูฟแม็กกาซีน ( Moremove Magazine) เล่มที่ ๓๓ ประจำเดือน สิงหาคม ๒๐๑๐

ตลกโปกฮา - ยาคลายเครียด

นิยามของงานขาย
....ถ้าคุณเห็นสาวสวยในงานเลี้ยง แล้วคุณตรงเข้าไปบอกเธอว่า ผมรวย แต่งงานกับผมไหม นั่นคือการขายตรง
    ถ้าคุณให้เพื่อนคุณเข้าไปบอกเธอว่า เพื่อนผมรวย เขาอยากแต่งงานกับคุณนั่นคือการโฆษณา
    ถ้าคุณขอเบอร์โทรศัพท์จากเธอและโทรศัพท์ไปบอกเธอวันรุ่งขึ้นว่าคุณรวย นั่นคือ การขายทางโทรศัพท์
    ถ้าคุณเข้าไปชวนเธอคุย ซื้อเหล้าเลี้ยงเธอ พาเธอไปส่งบ้าน ก่อนจะบอกว่าคุณรวย นั่นคือการประชาสัมพันธ์
    แต่...ถ้าเมื่อไรที่เธอตบหน้าคุณ หลังจากที่คุณบอกว่าคุณรวย แต่งงานกับผมไหม นั่นคือการตอบสนองของลูกค้า

วามต่างของวิชาแต่ละนง
     ต้นถามยุทธว่า "รู้หรือเปล่าว่าชีววิทยากับสังคมวิทยาต่างกันอย่างไร"
     ยุทธตอบว่า "เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาแล้วหน้าตาเหมือนพ่อแม่ นั่นเป็นเรื่องของชีววิทยา แต่ถ้าเด็กเกิดมาแล้วหน้าตาดันไปเหมือนเพื่อนบ้าน ทีนี้ล่ะ ปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นทันที"

ใครรู้จักแม่นานกว่ากัน
      เช้าวันหนึ่ง ลูกสาววัยแปดขวบกับลูกชายวัยห้าขวบทะเลาะกันเรื่องจะเลือกกินอะไรเป็นอาหารเช้าดี เด็ก ๆ อยากกินของหวานเป็นอาหารเช้า แต่ผมบอกว่าแม่คงจะไม่พอใจแน่ ๆ ถ้าอนุญาตให้ลูกกินของหวานเป็นอาหารเช้า ลูกสาวแย้งว่า แม่ไม่ว่าหรอก ผมเถียงว่าผมรู้จักแม่มานานกว่าพวกเขา "ไม่จริง" ลูกสาวเถียง "พ่อรู้จักกับแม่ตอนเรียนมัธยม แต่พวกเรารู้จักแม่มาตั้งแต่เกิด"

Pages