วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 03, 2555

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 

      ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ด้านการเมืองการปกครองของไทยช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราว 70 ปี ที่ผ่านมา
    แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่มีอายุสูงวัยกว่านั้นหรือเกิดก่อนนั้นคงจะมีน้อยเต็มที หลายท่านก็ยังคงเป็นเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องการเมือง...ทว่านาม ปรีดี พนมยงค์ นามนี้ดูเหมือนว่าชาวไทยแทบทุกวัยในวันนี้จะคุ้นเคย แต่ก็อาจจะยังไม่รู้จักมักจี่กันดีว่า  ท่านผู้นี้คือใครกัน
          นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗  ตำแหน่งนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้นาม ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
          หนึ่งในกลุ่มคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ประสานงานขบวนการเสรีไทยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนแรก ซึ่งฐานะหลังนี้เองที่ยิ่งสนับสนุนให้ท่านโดดเด่นในวงการการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง  เพราะศิษย์จากรั้วมหาวิทยาลัยนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการปกครองประเทศไทยตลอดมา
          ประวัติ: ท่านเป็นชาวกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเรือนแพย่านวัดพนมยงค์ ลูกชาวนาชาวสวนที่มีฐานะดี สอบไล่ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับปริญญาทางกฎหมาย และได้ “ลิซองซิเอ ทางกฎหมาย” จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย ( Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส
           หลังจากกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม แล้วย้ายไปเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
           หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหารราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยชุดแรกสำเร็จ ท่านเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
            เมื่อถึงช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเสนอรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งต่อมาไม่นานพันเอกพระยาพหลพล-พยุหเสนาทำรัฐประหารอีกครั้งและได้ตั้งคณะกรรมการ สอบสวนคดีดังกล่าวปรากฎว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทิน และนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส
           นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และช่วงที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยพระแสงปืน  นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของเขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบได้ ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
          ต่อมามีรัฐประหารอีกครั้ง นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีไปพำนักอยู่ที่มาเลเซีย จนลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในจีน กระทั่งถึงแก่สัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๓ ปี

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2555

เฟิร์นและมอส ฟอสซิลมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์

เฟิร์นและมอสเผ่าพันธุ์พฤกษาล้านปีสีเขียว
รูปภาพ เฟินเขากวาง
รูปภาพ เฟินเขากวาง
            เฟิร์น Fern จะสร้างสปอร์ไว้ที่ใต้ท้องของใบ สปอร์ของเฟินเป็นผงสีน้ำตาล อาจเรียงรายเป็นรูปวงกลม หรือ เป็นขีด เป็นเส้น มันใช้สปอร์นี้ในการขยายพันธุ์ เมื่อสปอร์มีขนาดและอายุได้ที่ก็จะแตกตัวออก ปลิวกระจายไปในอากาศ หรือติดไปตามแข้งขา ลำตัวสัตว์ แพร่กระจายสายพันธุ์ แตกหน่อเกิดเฟินต้นใหม่ในที่ต่าง ๆ ในสภาพธรรมชาติ เฟินมักจะมีมดอาศัยทำรังอยู่ด้วย และมดก็ชอบที่จะกินสปอร์เฟินเป็นอาหาร ทว่าอาหารอื่น ๆ ที่มดสะสมไว้ในรังของมันก็ยังเป็นสารอาหารชั้นดีให้แก่เฟินด้วย 
รูปภาพมอส
 รูปภาพมอส
              มอส Moss ญาติดึกดำบรรพ์ของเฟิน ในอาณาจักรพืชเราเรียกพวกมันว่า Pteridophyta เติบโตขยายเผ่าพันธุ์ร่วมยุคสมัยหลายร้อยล้านปีมาด้วยกัน  มอสและเฟินเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ของโลก พวกมันมีคลอโรฟิลล์สีเขียวสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้โดยลำพังไม่ต้องง้ออาหารจากใคร มอสไม่ถูกจัดอยู่ในสารบบพืชชั้นสูง เพราะมันไม่มีราก ไม่มีลำต้น และไม่มีใบที่แท้จริง อีกทั้งยังปราศจากดอกจึงต้องแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์ โดยอาศัย ลม น้ำ หรือแมลงพาไป ขณะเดียวกัน เฟิน ถือว่ามีวิวัฒนาการที่สูงกว่า แม้ว่ายังต้องสืบพันธุ์ด้วยสปอร์อยู่ แต่มันก็มีรากที่แท้จริง ลำต้นมีท่อน้ำเลี้ยงและส่งอาหาร บางชนิดมีลำต้นแบบเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ ลักษณะคล้ายพวกปาล์ม อย่าง เฟินต้น หรือ              Tree Fern
            ทั่วโลกพบเฟินมากกว่า 15,000 ชนิด 400 สกุลในธรรมชาติ เฟินหลายชนิดนอกจากเป็นอาหารที่แสนอร่อยให้แก่คนเราแล้ว มันยังเป็นพรรณไม้ประดับที่นักจัดสวนชื่นชอบ อย่าง เฟินข้าหลวงที่แตกพุ่มใบกว้างใหญ่เขียวสดใส หรือ เฟินกระแตไต่ไม้ที่เลื้อยไต่เกาะตามลำต้นไม้ส่งก้านใบทั้งชูช่อและห้อยระย้าอย่างงดงาม รวมทั้งมอสที่เรียกว่าเลี้ยงดูให้ไม่แห้งตายนั้นยากยิ่ง นักจัดสวนหลายคนก็ชื่นชอบโดยเฉพาะสวนริมน้ำตกที่สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติ
              ความหลากหลายชนิดของเฟินและมอส ทำให้เราสามารถพบเห็นมันได้ทั่วทั้งบริเวณป่าที่สมบูรณ์ ทั้งในน้ำ บริเวณชุ่มน้ำ ตามโคนต้นไม้ หรือบนคาคบไม้สูงเกินเอื้อม บนผิวแผ่นผา รวมทั้งขึ้นแซมซอกโขดหินริมลำธาร ที่มีมอสเขียวขจีปกคลุมก้อนหินนั้นอยู่ด้วย
              เฟินและมอส เป็นสีเขียวอมตะแห่งผืนป่า ความชุ่มชื้นอุดมทำให้พวกมันมีสีเขียวสด ความเขียวสดของมันก็เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำเอาไว้ให้ผืนป่านั้นด้วย มอสอาจเกาะลำต้นไม้ กิ่งไม้ จนถึงโคนรากอย่างหนาแน่นจนดูว่าต้นไม้นั้นมีขนสีเขียวปกคลุม มันก็ไม่ได้ส่งรากแยงเข้าไปในเนื้อต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นเพื่อแย่งอาหาร เหมือนกับพวกกาฝากมันจึงไม่เพียงคลุมต้นไม้ให้ดูงดงาม สร้างป่าให้เขียวขจี มอสยังช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ต้นนั้น
              เฟินและมอสเกาะอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่ไม่เพียงช่วยสร้างความชุ่มชื้น มันยังช่วยสร้างโลกให้งดงาม เสริมสร้างบรรยากาศสดใสบริสุทธิ์  ท่องจำไว้ให้ดีว่า เฟินและมอสที่เกาะอยู่ตามลำต้นไม้ทั้งในป่าในสวนหน้าบ้าน หรือสวนหลังบ้าน มันไม่ได้ทำให้ต้นไม้ตายหรือเหี่ยวเฉา เพราะมันแค่อาศัยเกาะ อาศัยชูช่อเลื้อยเพื่อขยายตัวเติบโต ไม่แทงรากดูดกินอาหารจากลำต้นไม้เลย....อย่าเผลอไผลไปตัดมันทิ้งไป

ที่มา : Together Magazine ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

Pages