วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2555

เฟิร์นและมอส ฟอสซิลมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์

เฟิร์นและมอสเผ่าพันธุ์พฤกษาล้านปีสีเขียว
รูปภาพ เฟินเขากวาง
รูปภาพ เฟินเขากวาง
            เฟิร์น Fern จะสร้างสปอร์ไว้ที่ใต้ท้องของใบ สปอร์ของเฟินเป็นผงสีน้ำตาล อาจเรียงรายเป็นรูปวงกลม หรือ เป็นขีด เป็นเส้น มันใช้สปอร์นี้ในการขยายพันธุ์ เมื่อสปอร์มีขนาดและอายุได้ที่ก็จะแตกตัวออก ปลิวกระจายไปในอากาศ หรือติดไปตามแข้งขา ลำตัวสัตว์ แพร่กระจายสายพันธุ์ แตกหน่อเกิดเฟินต้นใหม่ในที่ต่าง ๆ ในสภาพธรรมชาติ เฟินมักจะมีมดอาศัยทำรังอยู่ด้วย และมดก็ชอบที่จะกินสปอร์เฟินเป็นอาหาร ทว่าอาหารอื่น ๆ ที่มดสะสมไว้ในรังของมันก็ยังเป็นสารอาหารชั้นดีให้แก่เฟินด้วย 
รูปภาพมอส
 รูปภาพมอส
              มอส Moss ญาติดึกดำบรรพ์ของเฟิน ในอาณาจักรพืชเราเรียกพวกมันว่า Pteridophyta เติบโตขยายเผ่าพันธุ์ร่วมยุคสมัยหลายร้อยล้านปีมาด้วยกัน  มอสและเฟินเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ของโลก พวกมันมีคลอโรฟิลล์สีเขียวสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้โดยลำพังไม่ต้องง้ออาหารจากใคร มอสไม่ถูกจัดอยู่ในสารบบพืชชั้นสูง เพราะมันไม่มีราก ไม่มีลำต้น และไม่มีใบที่แท้จริง อีกทั้งยังปราศจากดอกจึงต้องแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์ โดยอาศัย ลม น้ำ หรือแมลงพาไป ขณะเดียวกัน เฟิน ถือว่ามีวิวัฒนาการที่สูงกว่า แม้ว่ายังต้องสืบพันธุ์ด้วยสปอร์อยู่ แต่มันก็มีรากที่แท้จริง ลำต้นมีท่อน้ำเลี้ยงและส่งอาหาร บางชนิดมีลำต้นแบบเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ ลักษณะคล้ายพวกปาล์ม อย่าง เฟินต้น หรือ              Tree Fern
            ทั่วโลกพบเฟินมากกว่า 15,000 ชนิด 400 สกุลในธรรมชาติ เฟินหลายชนิดนอกจากเป็นอาหารที่แสนอร่อยให้แก่คนเราแล้ว มันยังเป็นพรรณไม้ประดับที่นักจัดสวนชื่นชอบ อย่าง เฟินข้าหลวงที่แตกพุ่มใบกว้างใหญ่เขียวสดใส หรือ เฟินกระแตไต่ไม้ที่เลื้อยไต่เกาะตามลำต้นไม้ส่งก้านใบทั้งชูช่อและห้อยระย้าอย่างงดงาม รวมทั้งมอสที่เรียกว่าเลี้ยงดูให้ไม่แห้งตายนั้นยากยิ่ง นักจัดสวนหลายคนก็ชื่นชอบโดยเฉพาะสวนริมน้ำตกที่สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติ
              ความหลากหลายชนิดของเฟินและมอส ทำให้เราสามารถพบเห็นมันได้ทั่วทั้งบริเวณป่าที่สมบูรณ์ ทั้งในน้ำ บริเวณชุ่มน้ำ ตามโคนต้นไม้ หรือบนคาคบไม้สูงเกินเอื้อม บนผิวแผ่นผา รวมทั้งขึ้นแซมซอกโขดหินริมลำธาร ที่มีมอสเขียวขจีปกคลุมก้อนหินนั้นอยู่ด้วย
              เฟินและมอส เป็นสีเขียวอมตะแห่งผืนป่า ความชุ่มชื้นอุดมทำให้พวกมันมีสีเขียวสด ความเขียวสดของมันก็เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำเอาไว้ให้ผืนป่านั้นด้วย มอสอาจเกาะลำต้นไม้ กิ่งไม้ จนถึงโคนรากอย่างหนาแน่นจนดูว่าต้นไม้นั้นมีขนสีเขียวปกคลุม มันก็ไม่ได้ส่งรากแยงเข้าไปในเนื้อต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นเพื่อแย่งอาหาร เหมือนกับพวกกาฝากมันจึงไม่เพียงคลุมต้นไม้ให้ดูงดงาม สร้างป่าให้เขียวขจี มอสยังช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ต้นนั้น
              เฟินและมอสเกาะอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่ไม่เพียงช่วยสร้างความชุ่มชื้น มันยังช่วยสร้างโลกให้งดงาม เสริมสร้างบรรยากาศสดใสบริสุทธิ์  ท่องจำไว้ให้ดีว่า เฟินและมอสที่เกาะอยู่ตามลำต้นไม้ทั้งในป่าในสวนหน้าบ้าน หรือสวนหลังบ้าน มันไม่ได้ทำให้ต้นไม้ตายหรือเหี่ยวเฉา เพราะมันแค่อาศัยเกาะ อาศัยชูช่อเลื้อยเพื่อขยายตัวเติบโต ไม่แทงรากดูดกินอาหารจากลำต้นไม้เลย....อย่าเผลอไผลไปตัดมันทิ้งไป

ที่มา : Together Magazine ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2555

ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
    พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒  ที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มชีวิตวัยเยาว์ในถิ่นที่เกิด จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๔๓๕ จึงอุปสมบท ณ วัดใต้ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้ยัติเป็นธรรมยุติที่วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) และจำพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี
       พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระภิกษุที่จำเริญธรรมในสายวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายธรรมยุต เป็นต้นแบบแก่หมู่พระสงฆ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตร ซึ่งพระสงฆ์และฆราวาสในสมัยนั้นต่างให้ความศรัทธาเลื่อมใส ท่านเป็นผู้ที่ชักชวนให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อริยสงฆ์สำคัญสายวิปัสสนากรรมฐานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อครั้งยังเยาว์ อุปสมบท ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีที่ท่านจำพรรษาอยู่

       หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลยได้กล่าวถึงพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ว่า "นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริก หมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหารทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย เอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ ชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบรูปร่างใหญ่สันทัด รักเด็ก อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ น้ำผึ้ง.."
         ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๖๑ พระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นได้บำเพ็ญธุดงควัตรในเขตอำเภอหนองสูง จังหวัดนครพนม ต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังออกพรรษา (พ.ศ.๒๔๖๑) จึงกลับไปจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๓ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สุวรรณ และพระอาจารย์สิงห์
          นับแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้ดำรงตำแหน่งพระครูวิเวกพุทธกิจ เจ้าอาวาสวัดเลียบและวัดใต้ จนล่วงสู่ปัจฉิมวัย ราว พ.ศ.๒๒๔๘๐ ท่านได้บำเพ็ญธุดงควัตรและเปลี่ยนมาจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์ดี ฉันโน  ณ วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ถึงแก่มรณภาพขณะก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ ณ วัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๔
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
 ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
          พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานซึ่งประดิษฐานอัฐิธาตุของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และจัดแสดงอัฏฐบริขาร สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่าน อันเกิดจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่ออริยสงฆ์องค์นี้
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
  ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ

Pages