วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

ความเป็นมาของการกินเจ

กินเจสด รสธรรมชาติ

      ในเรื่องของการกินผัก นับเป็นความชาญฉลาดของอารยธรรมจีนที่กำหนดการกินเจปีละ 10 วันขึ้นมา คำว่า "เจ" แปลตรงตัวว่า "ผัก" คนจีนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าผักมีประโยชน์มากมายต่อร่างการย จึงต้องกำหนดให้คนเราอย่างน้อยต้องกินผักอย่างเต็มที่ปีละ 10 วัน ถึงแม้ว่าวัตรปฏิบัติดังกล่าวจะเจือปนด้วยความเชื่อ ความศรัทธาหรือใช้แนวคิดทางศาสนามาชี้นำก็ตามทีเถิด ในแต่ละวันคนเราอาจจะเผลอไม่กินผักบ้าง แต่สำหรับฤดูกาลกินเจ คนจีนโบราณต่างละเลิกเนื้อสัตว์ เลิกอาหารกลิ่นฉุน หันมากินผักกันถ้วนหน้า
       สำหรับความเป็นมาของการกินเจ มีตำนานเล่าว่าแต่ก่อนคนจีนเคารพนับถือเชื้อพระวงศ์ผู้วิเศษซึ่งเป็นพี่น้องกันอยู่ 9 องค์ เมื่อทั้งหมดตายลง ต่างก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ หรือดาวที่อยู่เรียงกัน 9 ดวง คือดาวจระเข้ เทพทั้งเก้าเป็นผู้ถือบัญชีอายุขัยของคนบนโลกนี้ และสามารถต่ออายุของคนเราให้ได้ คนจีนเชื่อว่า ระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 ทวยเทพทั้งเก้าจะตรวจสอบบันทึกนี้ และจะบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละบุคคล ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สมควรที่ชาวโลกจะต้องประกอบกรรมดี ทำตัวดี ๆ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเลิกอาหารคาว ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ หันมาถือศีลกินเจ หรือกินผัก ทำเช่นนี้จะรอดพ้นจากการตรวจสอบ จึงจะมีอายุยืนยาว
        เห็นหรือยังว่าการกินเจนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมีสุขภาพดี และความมีอายุยืนยาว ขนาดคนจีนยังให้อรรถาธิบายเอาไว้เช่นนั้น ก่อนที่องค์การอนามันโลกจะประกาศให้กินผัก นับเป็นพัน ๆ ปีเลยทีเดียว
        แต่ก็ยังมีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับการกินเจสำนวนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน การกินเจเริ่มต้นตามวันทางจันทรคติของจีน คือเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน  สำหรับการกินเจจริง ๆ นั้น จะห้ามทานเนื้อสัตว์ทุกประเภทและรวมถึงห้ามพืชกลิ่นแรง 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม (รวมผักชี) หลักเกียว กู๋ไช่ และยาสูบ เพราะคนจีนเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมามีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ ทำให้จิตใจเร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย ทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวกันไม่ติด จึงถือเอาว่ามันเป็นสารพิษที่จะไปทำลายพลังธาตุทั้งห้าของร่างกาย ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงสมควรหลีกเลี่ยงในระยะถือศีลกินเจ
       อย่างไรก็ตามหากจะผสมผสานแนวคิดแบบจีนโบราณกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่ เอาเป็นว่าในฤดูกาลกินเจ หันมากินผักสดและผลไม้สดเป็นหลัก ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้น้อยที่สุด ให้เจของคุณเป็นเจสดรสธรรมชาติก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณมากกว่า
       แต่อย่าลืมว่า สมัยก่อนการกินเจแค่ปีละ 10 วัน อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ยังสะอาดบริสุทธิ์อยู่....แค่นั้นคนโบราณก็ฟื้นสุขภาพของตนได้แล้ว แต่สมัยนี้โลกของเราเต็มไปด้วยมลพิษและสารเคมีสารพัด เราอาจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กินผัก ผลไม้ ซึ่งต้องเน้นคำว่า "สด" ด้วย และย้ำอีกว่า ต้องกินทุกวัน วันละประมาณ 500 กรัม นั่นแหละเราจึงจะมีสุขภาพดี



ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 68 :พญ.ลลิตา ธีระสิริ คอลัมม์ เพื่อชีวิตและสุขภาพ

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

Pages