วันอาทิตย์, เมษายน 29, 2561

ประวัติเงินตราของประเทศไทย


ประวัติเงินตราของประเทศไทย

          ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น สำหรับชนชาติไทยสันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะเงินมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เรียกกันว่า เงินพดด้วง ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เองเป็นเวลาหลายร้อยปีจวบจนมีการนำเงินเหรียญตามแบบสากลเข้ามาใช้

เงินตราคืออะไร
     เงินตรา คือ วัตถุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย เป็นตัวแทนการวัดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เงินตราในอดีตเริ่มจากการใช้เปลือกหอย อัญมณี และพัฒนามาเป็นโลหะ จนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร

เงินตราฟูนัน
         อาณาจักรฟูนันก่อตัวขึ้นบริเวณทางใต้ของลุ่มน้ำโขง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 และล่มสลายลงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จากการโจมตีของพวกเจนละ อาณาจักรฟูนันได้รับอารยธรรมด้านการปกครองโดยกษัตริย์และการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดีย เงินตราที่ใช้จะมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนา โดยมีลักษณะเป็นรูปพระศรีวัตสะ กลองบัณเฑาะว์ที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่าง ๆ และมี เครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งหมายถึงความโชคดี

เงินตรา ทวารวดี
         อาณาจักรทวารวดีเริ่มมีความสำคัญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม การปกครองยังคงอยู่ในระบบกษัตริย์ ประชาขนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เงินตราที่พบยังคงมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์และศาสนา เช่น เหรียญเงินด้านหนึ่ง เป็นรูปบูรณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านเป็นภาษาสันสกฤตราณ อ่านว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” เป็นต้น

เงินตรา ศรีวิชัย
          ประมาณพุทธศตวรรษที่  13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้นส่งผลให้เมืองที่อู่บนคาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและอินเดีย ทางฝั่งตะวันตก และสินค้าจากจีน ขอม ทวารวดี ทางฝั่งตะวันออก มีความสำคัญขึ้นเช่นกัน จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตรา ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย การปกครองได้ใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เงินตราที่ใช้ทำด้วยเงินและองคำ มี 2 ชนิด คือ “เงินดอกจัน” ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉก อีกก้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ” เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” ด้านหนึ่งมีร่องเล็ก ๆ คล้ายเล็ดกาแฟอีกด้านหนึ่ง เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ น “ ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “ น “ ว่า “เงินนโม” อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงในพุทธศตวรรษที่ 18

เงินตราสุโขทัย
         ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยถือกำเนิดขึ้น ได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ โดยที่ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง นอกจากนี้ยังใช้ “เบี้ย” เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำ
 เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน (Bullet Money) เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลก ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2  ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

เงินตราสมัยกรุงศรีอยุธยา
         ในสมัยนี้ยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตรา แต่หลวงผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงในสมัยนี้ คล้ายเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย แต่ตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่เป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น


เงินตราสมัยกรุงธนบุรี
         ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่ามีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เพียง 2 ชนิด คือ เงินพดด้วงตราตรีศุลและตราทวิวุธ

เงินตราสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
         ในปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้าม คือ กรุงเทพมหานคร และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เงินตราที่ใช้ในยุคต้น ๆ ยังคงใช้เงินพดด้วง โดยที่ตราประทับบนเงินพดด้วงคือตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาล ซึ่งได้แก่
         รัชกาลที่ ๑ ตราบัวอุณาโลม
         รัชกาลที่ ๒ ตราครุฑ
         รัชกาลที่ ๓ ตราปราสาท
         รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ
         รัชกาลที่ ๕ ตราพระเกี้ยว

สมัยรัชกาลที่ ๑
      เงินพดด้วงในรัชกาลนี้ เดิมประทับตราจักร และตราตรีศูล แต่หลังจากบรมราชาภิเษกแล้ว ได้โปรดเกล้า ให้ผลิตเงินพดด้วงประจำรัชกาลแล้วประทับตราพระแสงจักร-บัวอุณาโลม

สมัยรัชกาลที่ ๒
      ตราที่ประทับบนเงินพดด้วง คือ ตราจักรและตราครุฑ สันนิษฐานว่าตราครุฑ มาจากพระนามเดิมของรัชกาลที่ ๒ คือ “ฉิม” ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ


สมัยรัชกาลที่ ๓
      ตราปราสาทเป็นตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๓ ผลิตเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในปี พ.ศ.2367 นอกจากนี้ยังมีการผลิตเงินพดด้วงเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญ ๆ ประทับตราต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ครุฑ เสี้ยว ใบมะตูม และเฉลว เป็นต้น  ส่วนการจัดทำเงินเหรียญขึ้นใช้ตามแบบสากลนิยมนั้น มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้า สั่งจัดทำตัวอย่างเหรียญทองแดงส่งเข้ามา แต่ยังไม่โปรดเกล้า ให้นำออกใช้

สมัยรัชกาลที่ ๔
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้น และได้นำเงินเหรียญของจนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วง เป็นเงินเหรียญ 
       ในปี พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้า ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “ เหรียญเงินบรรณาการ”
         ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี พ.ศ.2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “ โรงกระสาปณ์สิทธิการ” ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้า ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2447 เป็นต้นมา

สมัยรัชกาลที่ ๕
       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ปรับปรุงใหม่โดยใช้หน่วยเป็น บาทและสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

สมัยรัชกาลที่ ๖
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์ ,และ 1 สตางค์ ในช่วงต้นรัชกาบยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในปี พ.ศ.2456 จึงโปรดเกล้าให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล  เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต


สมัยรัชกาลที่ ๗
        ในรัชกาลนี้มีการผลิตเหรียญหมุนเวียนออกใช้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่นำออกใช้เป็นเหรียญชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตราพระบรมรูป-ช้างทรงเครื่อง


สมัยรัชกาลที่ ๘
           เหรียญประจำรัชกาลที่ผลิตออกใช้หมุนเวียน เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-พระครุฑพ่าห์ ชนิดราคา 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, และ 5 สตางค์ ซึ่งมี 2 รุ่น คือ รุ่นแรกมีพระบรมรูปเมื่อครั้นเจริญพระชนมพรรษา


สมัยรัชกาลที่ ๙
          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในรัชกาลนี้ มี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์, 5 สตางค์, 10 สตางค์, 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 5 บาท และ 10 บาท
            นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผลิตทั้งเหรียญประเภทธรรมดาและเหรียญประเภทขัดเงา

Pages