วันเสาร์, เมษายน 21, 2555

เรื่องเล่าระหว่างทางธุดงค์ของหลวงปู่ชา

เรื่องเล่าระหว่างทางธุดงค์ของหลวงปู่ชา

พระธุดงค์ : สู้ความกลัวในป่าช้า กล้านอนขวางทางเสือ

   ในระหว่างทางธุดงค์จาริก คราวหนึ่งท่านผ่านไปพักวิเวกอยู่ที่ป่าช้าวัดโปร่งคลอง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ชาวบ้านหามศพมาเผาใกล้ ๆ ที่ปักกลด ซึ่งทำให้พระชากลัวมาก ตกดึกคืนนั้นขณะทำความเพียรอยู่ภายในกลดก็ได้ยินเสียงเดินหนัก ๆ ตรงเข้ามาเหมือนจะเหยียบพระ มาหยุดอยู่ที่หน้ากลด แล้วรู้เหมือนมือที่ถูกไฟไหม้นั้นคว้าไปมาอยู่ตรงหน้า ท่านเล่าว่ากลัวจนไม่มีอะไรจะเปรียบ
   กลัวมากจนหมดความกลัว
   "ปานฝ่ามือกับหลังมือเราพลิกกลับ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมาก ๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ ใจมันสูงขึ้น สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ เปรียบไม่ถูก"
   แล้วลมฝนก็โหมกระหน่ำลงมาอย่างหนักจนท่านเปียกโชกไปหมด
   เช้ามาท่านลุกจากกลดออกไปปัสสาวะ ปรากฎว่าปัสสาวะออกมามีแต่เลือด เพราะปวดมาแต่กลางคืน
   ท่านตกใจว่าข้างในคงฉีกขาด แต่ก็ปลงใจว่า "ตายก็ตายช่างมัน จะทำอย่างไรได้ ตายก็ดี ตายเพราะบำเพ็ญอย่างนี้ ตายเพราะปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตายแล้ว"
   ต่อมาท่านธุดงค์ไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เห็นรอยทางเก่าก็นึกถึงคำสอนของคนโบราณที่ว่า เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า ก็อยากจะพิสูจน์ให้เห็นจริง จึงปักกลดขวางทางเก่า จากนั้นก็นอนตะแคงหไสยาสน์ภายในกลด หันหลังให้ป่า หันหน้าไปทางหมู่บ้าน
   ขณะที่กำลังนอนกำหนดลมหายใจอยู่ หูก็แว่วได้ยินเสียงใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ ๆ ใกล้เข้ามาจนได้ยินเสียงลมหายใจและกลิ่นสาบสางที่ฟุ้งกระจายมากับสายลม ท่านยังคงนอนนิ่งอยู่ทั้งที่รู้ดีว่าเสียงและกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นสัตว์อย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเสือ!
   จิตหนึ่งก็ห่วงชีวิตจนตัวสั่นหวั่นไหว แต่กลัวอยู่ไม่นาน จิตของนักต่อสู้ก็ออกมาแย้งและให้เหตุผลว่า
    อย่าห่วงมันเลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตายรอยพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอเป็นอาหารของเสือ หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา
   เสียงเสือหยุดลง ได้ยินเสียงลมหายใจอยู่ห่าง ๆ สักครู่มันก็หันหลังกลับ เดินเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรบหายเข้าป่าไป
    พระหนุ่มจึงได้คำตอบว่าทำไมคนโบราณจึงห้ามนอนขวางทางเก่า
     และได้ข้อคิดว่า เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต ปล่อยวางมันเสีย ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ทำให้เกิดความเบาสบาย สติปัญญาเฉียบคมขึ้นเป็นเงาตามตัว จิตเกิดความกล้าหาญไม่สะทกสะท้านสิ่งใด
   ยาวนานนับสิบพรรษากับการปฏิบัติธุดงค์กัมมัฎฐาน บำเพ็ญสมณธรรมขั้นอุกฤษฎ์ หลวงปู่ชามีข้อธรรมในการอบรมสั่งสอนศิษย์ในชั้นหลังว่า
   "ถ้าเราเรียนปริยัติ แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้รับผลเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยได้กินนมโคฉันนั้น"

Pages