วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2561

กำเนิดของเพลงชาติไทย

กำเนิดของเพลงชาติไทย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมสากล แม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่) แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติ
ที่มาของทำนองเพลงชาติปัจจุบันนั้น จากบันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ ได้เล่าไว้ว่า ราวปลายปี พ.ศ. 2474 เพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของท่าน คือ หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) [1] ได้ขอให้ท่านแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นเพลงหนึ่ง ในลักษณะของเพลงลามาร์แซแยส ซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้บอกปฏิเสธ เพราะถือว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้ว ทั้งการจะให้แต่งเพลงนี้ก็ยังไม่ใช่คำสั่งของทางราชการด้วย แม้ภายหลังหลวงนิเทศกลกิจจะมาติดต่อให้แต่งเพลงนี้อีกหลายครั้งก็ตาม พระเจนดุริยางค์ก็หาทางบ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะท่านสงสัยว่าการขอร้องให้แต่งเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง ประกอบกับในเวลานั้นก็มีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติอย่างหนาหูด้วย[2]
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปได้ประมาณ 5 วันแล้ว หลวงนิเทศกลกิจ ซึ่งพระเจนดุริยางค์รู้ภายหลังว่าเป็น 1 ในสมาชิกคณะราษฎรด้วย ได้กลับมาขอร้องให้ท่านช่วยแต่งเพลงชาติอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ท่านเห็นว่าคราวนี้หมดทางที่จะบ่ายเบี่ยง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้ 7 วัน และแต่งสำเร็จในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ตนได้กำหนดนัดหมายวันแต่งเพลงชาติไว้ ขณะที่นั่งบนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน เพื่อไปปฏิบัติราชการที่สวนมิสกวัน จากนั้นจึงได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลง โดยได้เลือกใช้ทำนองคล้ายคลึงกับเพลงมาซูแร็กดอมบรอฟสกีแยกอและมอบโน้ตเพลงนี้ให้หลวงนิเทศกลกิจนำไปบรรเลง ในการบรรเลงตนตรีประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันพฤหัสบดีถัดมา พร้อมทั้งกำชับว่าให้ปิดบังชื่อผู้แต่งเพลงเอาไว้ด้วย[2]
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้ลงข่าวเรื่องการประพันธ์เพลงชาติใหม่โดยเปิดเผยว่า พระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ทำให้พระเจนดุริยางค์ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แม้ภายหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงว่าท่านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ 30 ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญ อีกครึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง[2]

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงชาติฉบับแรกสุด
ส่วนเนื้อร้องของเพลงชาตินั้น คณะผู้ก่อการได้ทาบทามให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้ประพันธ์ โดยคำร้องที่แต่ขึ้นนั้นมีความยาว 2 บท สันนิษฐานว่าเสร็จอย่างช้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เนื่องจากมีการคันพบโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้องซึ่งตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งลงวันที่ตีพิมพ์ในวันดังกล่าว[3] แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่เพลงนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพลงชาติ และมีการจดจำต่อๆ กันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ที่มาชัดเจน ดังปรากฏว่า มีการคัดลอกเนื้อเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราส่งเข้าประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่งด้วย[4]
เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราประพันธ์เริ่มแรกสุดแต่ไม่เป็นทางการ และ เป็นฉบับต้องห้าม ก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อมีการประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ใน พ.ศ. 2476 มีดังนี้ (โปรดเทียบกับเนื้อร้องฉบับราชการ พ.ศ. 2477 ในหัวข้อ เพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2477)
แผ่นดินสยามนามประเทือง
ว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประ
เทศเขตต์ แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์
บุราณ ลงมา
ร่วมรักษาเอก
ราษฎร์ชนชาติไทย

เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477


ฉันท์ ขำวิไล ผู้ประพันธ์เพลงชาติสยามฉบับราชการ บทที่ 3 และบทที่ 4
ในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน มีกรรมการท่านอื่นๆ ดังนี้คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์, พระเจนดุริยางค์, หลวงชำนาญนิติเกษตร, จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท การประกวดเพลงชาติในครั้งนั้นได้ดำเนินการประกวดเพลงชาติ 2 แบบ คือ เพลงชาติแบบไทย (ประพันธ์ขึ้นโดยดัดแปลงจากดนตรีไทยเดิม) และเพลงชาติแบบสากล ซึ่งผลการประกวดมีดังนี้
1. เพลงชาติแบบไทย
คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติได้ตัดสินให้ผลงานเพลง "มหานิมิตร" ซึ่งประพันธ์โดย จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผลงานชนะเลิศ เพลงมหานิมิตรนี้จางวางทั่วได้ประพันธ์ดัดแปลงมาจากเพลงหน้าพ­าทย์สำคัญของไทยที่มีชื่อว่า "ตระนิมิตร" ให้สามารถบรรเลงเป็นทางสากล ซึ่งเพลงตระนิมิตรนี้ เป็นเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงครู นักดนตรีจะใช้บรรเลงในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น งานไหว้ครู บรรเลงเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์ เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นจึงมีความหมายอันควรแก่การเคารพนับ­ถือเป็นสิริมงคล เหมาะสมที่จะใช้เป็นเพลงชาติไทยได้
รัฐบาลได้ทดลองบรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติจะเสนอผลการประกวดให้คณะรัฐมนตรีประกาศรับรองนั้น คณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันและมีความเห็นว่า เพลงชาติมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความ­ศักดิ์สิทธิ์ หากมีการใช้อยู่ 2 เพลง จะทำให้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง จึงได้ตัดสินใจไม่เสนอเพลงชาติแบบไทยที่ได้คัดเลือกไว้ให้คณะรัฐมนตรีประกาศรับรองเป็นเพลงชาติในที่สุด[5]
2. เพลงชาติแบบสากล

โน้ตเพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477
คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติมีความเห็นให้ใช้ทำนองเพลงซึ่งประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์เป็นทำนองเพลงชาติแบบสากล สำหรับบทร้องนั้นได้คัดเลือกบทร้องของขุนวิจิตรมาตราซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นบทร้องชนะเลิศ และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477[6]
บทร้องทั้งของขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ประพันธ์ในรูปฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ความยาว 4 บท แต่ละบทมี 4 วรรค ผลงานของแต่ละคนจึงมีความยาวของบทร้องเป็น 16 วรรค เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงทำให้บทร้องเพลงชาติทั้งหมดมีความยาวถึง 32 วรรค ซึ่งนับว่ายาวมาก หากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้งสี่บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที) ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น

เพลงชาติสยามฉบับสังเขป พ.ศ. 2478

ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน) ระเบียบดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้น ได้กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงนั้นให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น[7]
ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขปนั้น คือท่อนขึ้นต้น (Introduction) ของเพลงชาติ (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี จนจบเพลง) ความยาวประมาณ 10 วินาที ไม่มีการขับร้องใดๆ ประกอบ[8]

เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482 - ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482[9] และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกไทยก่อนแก้ไขเป็นฉบับทางการมีดังนี้[10] (สำหรับเนื้อร้องฉบับประกาศใช้จริง ดูได้ในหัวข้อ เนื้อเพลง)
   ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน
อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย
การประกวดเพลงชาติครั้งนี้ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีกวีและผู้มีชื่อเสียงในทางการประพันธ์เพลงหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แก้ว อัจฉริยะกุล ชิต บุรทัต เป็นต้น ซึ่งรวมถึงผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติสองฉบับแรก (ขุนวิจิตรมาตรา และฉันท์ ขำวิไล) ได้ส่งเนื้อร้องของตนเองเข้าประกวดด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการตัดสินครั้งนั้น เฉพาะเนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใหม่นั้น ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า "ไทย" ถึง 12 ครั้ง[note 1]

บทร้อง

Menu
0:00
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
แผ่นเสียงแม่ไม้เพลงไทย ตรากระต่าย ชุด กราวกีฬา

Menu
0:00
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
บรรเลงและขับร้องโดย วงออร์เคสตราสี่เหล่าทัพ และวงดุริยางค์กรมศิลปากร
จัดทำโดย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

Menu
0:00
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
แผ่นเสียงโอเดียนตราตึก บรรเลงเครื่องสายฝรั่งวงใหญ่ทหารเรือ

Menu
0:00
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ฉันท์ ขำวิไล
บรรเลงโดยวงดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หากมีปัญหาในการเล่นไฟล์เหล่านี้ ดูที่ วิธีใช้สื่อ

ฉบับปัจจุบัน

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย[9]

ฉบับ พ.ศ. 2477


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เนื้อหากล่าวถึงการรับร้องบทร้องเพลงชาติซึ่งประพันธ์โดย นายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามกองทัพบกไทย โดยยึดถือตามทำนองเพลงเดิมของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ใช้เป็นเพลงชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ในลักษณะไม่เป็นทางการ) โดยช่วงแรกใช้คำร้องที่ประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้จัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ และประกาศรับรองเนื้อร้องที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยขุนวิจิตรมาตรา และเนื้อร้องที่แต่งโดยนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นฉบับที่ชนะการประกวด เป็นเนื้อร้องเพลงชาติฉบับทางราชการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา
(บทที่ 1 และบทที่ 2)
แต่งเมื่อ พ.ศ. 2475
แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ฉันท์ ขำวิไล
(บทที่ 3 และบทที่ 4)
แต่งเมื่อ พ.ศ. 2477
ประกาศใช้เพิ่มเติมจากเนื้อร้องเดิมในปีเดียวกัน
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสสระณแดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ[note 2]
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

การบรรเลง

Menu
0:00
ขั้นตอนการเทียบเวลา-เคารพธงชาติ ตอนเช้า
1.สปอตเชิญชวนเคารพธงชาติ
2.เพลงพม่าประเทศ (เพลงเทียบเวลา)
3.เสียงกดนาฬิกา
4.เวลา 07:59:55 น.เสียงต๊อด 1 ชุด (เสียงนาฬิกาดิจิตัล นับถอยหลังขึ้นชั่วโมงใหม่)
5.เวลา 08:00:00 น. (ตรง) เสียงนาฬิกาตี 8 ครั้ง
6.ขานว่า "เวลา 8 นาฬิกา"
7.เพลงชาติไทย

Menu
0:00
ขั้นตอนการเทียบเวลา-เคารพธงชาติ ตอนเย็น
1.ประกาศ "ที่นี่...สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โปรดเตรียมเคารพธงชาติ"
2.เพลงพม่าประเทศ (เพลงเทียบเวลา)
4.เวลา 17:59:55 น.เสียงต๊อด 1 ชุด (เสียงนาฬิกาดิจิติล นับถอยหลังขึ้นชั่วโมงใหม่)
5.เวลา 18:00:00 น. (ตรง) ตีฆ้อง 1 ครั้ง และขานว่า "เวลา 18 นาฬิกา"
6.เพลงชาติไทย

หากมีปัญหาในการเล่นไฟล์เหล่านี้ ดูที่ วิธีใช้สื่อ
ในข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพ มาตรา 3 การบรรเลงเพลงเคารพ ได้ระบุถึงการบรรเลงเพลงเคารพในส่วนของเพลงชาติไว้ว่า เพลงชาติจัดเป็นเพลงเคารพด้วยแตรวง ใช้บรรเลงแสดงความเคารพต่อธงประจำกองทหาร ธงประจำกองยุวชนทหาร ธงชาติประจำสำนักงานของรัฐบาล ในขณะขึ้นลง และธงราชนาวีประจำเรือใหญ่ในขณะทำพิธีธงขึ้นลง[11]
แนวปฏิบัติสำหรับธงชาติไทยโดยทั่วไป ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ได้ระบุไว้เช่นกันว่า เพลงชาตินับเนื่องเป็นหนึ่งอาณัติสัญญาณในการเคารพธงชาติ กล่าวคือ
1. เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ
2. ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[12]
แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ ได้ริเริ่มให้มีขึ้นครั้งแรก จากการบรรเลงเพลงชาติ ตามสัญญาณจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในเวลา 08.00 น. โดยบัญชาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ราวปี พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2[13]
ในปัจจุบัน นอกจากการบรรเลงเพลงชาติ ในเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีการแพร่ภาพวีดิทัศน์ประกอบเพลงชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยช่องต่างๆ อีกด้วย ซึ่งเดิมแต่ละสถานีฯ จะเป็นผู้จัดทำวีดิทัศน์ประกอบขึ้นเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยมีนโยบายให้สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำวีดิทัศน์กลางขึ้น เพื่อเผยแพร่โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยทุกแห่ง ในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยเริ่มใช้วีดิทัศน์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป[ต้องการอ้างอิง] ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยช่องต่างๆ อีกด้วย ซึ่งแต่ละสถานี จะเป็นผู้จัดทำวิดีทัศน์ขึ้นเองทางโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย
ตามประกาศคณะการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้คลื่นความถี่ให้บริการทั่วไปต้องจัดให้ออกอากาศเพลงชาติไทยทุกวันในเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. [14]

หลักความเชื่อของพุทธศาสนา


หลักความเชื่อ 

     แม้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า ศรัทธา หรือความเชื่อมั่น ป็นหนึ่งในหลักธรรมสำคัญที่จะผลักดันผู้ปฏิบัติไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง ดังในพละห้า ที่ขึ้นต้นด้วยศรัทธา และตามมาด้วยวิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่มิใช่ศรัทธาอย่างมืดบอดโดยไม่มีสิ่งใดเข้ามาประกอบ แต่เป็นความมั่นใจเร่งปฏิบัติอย่างขยันขันแข็งตั้งใจและชาญฉลาด
    เมื่อพูดถึงคำว่า ศรัทธา คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ต้องเชื่อไว้ก่อนแล้วทุกอย่างจะดีเอง แม้โลกปัจจุบัน ในปีที่ 2546 หลังพุทธปรินิพพานแล้วก็ตาม คนจำนวนมากยังคงลุ่มหลงแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีความเชื่ออย่างปราศจากความยั้งคิดอีกมากมาย ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พียงแต่เรื่องศาสนาเท่านั้น แต่การดำรงชีวิตประจำวันต้องอยู่ภายใต้อำนาจของความเชื่อแรงจูงใจจากกาโฆษณาว่า จะต้องกินอย่างไร แต่งตัวอย่างไร หาความบันเทิงอย่างไร ใช้ยานพาหนะอย่างไร เรียนอะไร เรียนที่ไหน ดื่มอะไรดี และแม้แต่จะหาความสงบอย่างไรก็ล้วนต้องอาศัยความเชื่อจากแรงโฆษณาทั้งนั้น
     แต่ความเชื่อที่มีอยู่โดยทั่วไป เป็นความเชื่อที่ผู้เห็นประโยชน์จากความเชื่อมักจะปลูกฝังความเชื่อ ด้วยการโน้มน้าวจิตใจต่าง ๆ นานา จนเหยื่อตายใจ เชื่ออย่างสนิทไม่ลืมหูลืมตา ต่อจากนั้นจึงฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากความเชื่อนั้น ๆ แบบง่ายดาย
      การแสวงหาประโยชน์จากความลุ่มหลงของมนุษย์เป็นกระบวนการที่จะต้องมีต่อไปตราบใดที่คนทั่วไปไม่ยอมพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและใช้ปัญญามองให้รอบด้านจนพบความจริง
      ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า “เกสปุตตุ” ชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นชนชาวกาลามะ ชนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นผู้ใฝ่รู้ชอบสนทนากับคนต่างแว่นแคว้นที่สัญจรไปมาเพราะหมู่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่ทางไปเมืองโกศลซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าผู้ครองนครคือพระเจ้าปเสนทิมีอำนาจ เศรษฐกิจดี การค้าขายรุ่งเรืองเห็นได้จากมีพ่อค้าสำคัญ ๆ เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี อาศัยอยู่
      เมื่อชาวกาลามะได้ฟังข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยี่ยมหมู่บ้านเกสปุตตะ ก็ปลื้มใจว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ มีความอิ่มเอิบเบิกบานเป็นนิรันดร์ การได้พบปะสนทนากับพระอรหันต์ย่อมมีแต่ความดีโดยส่วนเดียว จึงนัดมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน
       เมื่อชาวกาลามามาเฝ้าพระพุทธเจ้า บางคนก็ยกมือไหว้ บางคนก็นั่งเฉย ๆ  ผู้นำของชาวกาลามะจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์เดินทางผ่านมาทางนี้กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า แต่ละกลุ่มก็ล้วนยกย่องว่า กลุ่มของตนเองดีเยี่ยมในทุกด้านแล้วพูดจาดูหมิ่นกระทบกระเทียบ ถากถาง ทำให้กลุ่มอื่นไม่น่าเชื่อถือ ข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์และนักบวชเหล่านั้นว่า ใครพูดจริงใครพูดเท็จ กันแน่
       พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาวกาลามะทั้งหลาย การที่ท่านพากันสงสัยเคลือบแคลงนั้นเป็นการสมควรแล้ว ท่านทั้งหลาย
1.อย่าเชื่อถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

2.อย่าเชื่อถือถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังสืบ ๆ กันมา

3.อย่าเชื่อถือข่าวลือว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

4.อย่าเชื่อถือโดยอ้างตำรา

5.อย่าเชื่อถือโดยเดาเอาเอง

6.อย่าเชื่อถือโดยการคาดคะเน

7.อย่าเชื่อถือโดยตรึกตรองเอาตามอาการที่ปรากฏ

8.อย่าเชื่อถือโดยชอบใจว่าถูกต้องสอดคล้องกับความเห็นของเรา

9.อย่าเชื่อโดยความน่าเชื่อว่าผู้พูดเชื่อถือได้

10.อย่าเชื่อโดยความนับถือว่า สรณะนี้เป็นครูของเรา
       เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
       หลักความเชื่อที่พระพุทธเจ้าแสดงมานั้นเป็นเรื่องที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผล ว่าเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ เมื่อประจักษ์แจ้งแล้วจึงเชื่อ และพระองค์ได้ทรงวางหลักปฏิบัติเอาไว้ให้นำไปทำดูโดยตรัสถามชาวกาลามะต่อไปว่า
      เมื่อคนเกิดความโลภ โกรธ และหลงแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหม
ชาวกาลามะเห็นชอบตามที่พระองค์ตรัสถามว่า ไม่เป็นประโยชน์
      เพื่อให้ชาวกาลามะแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น พระองค์จึงตรัสต่อไปอีกว่า คนที่ถูกความโลภ ความโกรธ และความหลงกลุ้มรุม ครอบงำแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ได้ ลักทรัพย์ได้ ประพฤติผิดในกาม คบชู้สู่สมได้ พูดเท็จได้ คนที่ถูกความโลภความโกรธความหลงครอบงำแล้ว ย่อมชักชวนให้ผู้อื่นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดไปใช่ใหม
     ชาวกาลามะเห็นคล้อยตามพระพุทธเจ้าโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ทุกคนเห็นจริงตามนั้นว่า สิ่งที่คนทำไปด้วยอำนาจของ ความโลภ ความโกรธและความหลงครอบงำแล้วล้วนเป็นอกุศล มีโทษแต่ฝ่ายเดียว ผู้รู้ทั้งหลายติเตียน
       พระพุทธองค์ทรงชี้ต่อไปว่า เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้เมื่อสมาทานดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น
       เพื่อให้เกิดความกระจ่างในทางปฏิบัติ พระองค์จึงตรัสถามชาวกาลามะต่อไปอีกว่า เมื่อคนไม่ถูกโลภ โกรธ และหลงครอบงำจิตใจแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามคบชู้สู่สม ไม่พูดเท็จ ด้วยตนเองและไม่ชักชวนให้คนอื่นทำ เป็นเรื่องที่เป็นโทษหรือเป็นประโยชน์
        ชาวกาลามะทุกคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นประโยชน์
        เมื่อพระองค์ทบทวนว่าเป็น กุศลหรืออกุศล ชาวกาลามะก็ตอบว่า เป็นกุศล
       เมื่อถามว่า ผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ ชาวกาลามะก็ตอบว่า ท่านผู้รู้สรรเสริญ ใครสมาทานแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขอย่างแน่แท้
      พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ชาวกาลามะทั้งหลาย อริยะสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดหนึ่ง สอง สาม สี่ทิศ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ถึงความเป็นใหญ่ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนอยู่
       เมื่อจิตไม่เบียดเบียน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เศร้าหมอง มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจสี่ประการในปัจจุบันว่า
        ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของการทำดี ทำชั่วมีจริง อาศัยเหตุที่ได้ทำความดีไว้นี้ เมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
       ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมดีที่ทำไว้ดีแล้ว ไม่มีความชั่ว ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียน ไม่มีทุกข์ เป็นสุขรักษาตนอยู่ในปัจจุบันนี้
      เมื่อคนอื่นทำบาป เราไม่เคยคิดชั่วแก่ใคร ๆ ไหนเลยความทุกข์จะมาถูกต้องเราผู้ไม่ทำบาปกรรมไว้เลยได้เล่า
      เมื่อใคร ๆ ก็ไม่ทำบาป เราก็ไม่ทำบาป เมื่อพิจารณาเห็นทั้งสองส่วนว่าตนบริสุทธิ์ ย่อมมีความอุ่นใจ
      พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร ทำใจให้ผ่องแผ้วย่อมอยู่อย่างอบอุ่นใจ
      เมื่อพระองค์ได้แสดงธรรมจบชาวกาลามะก็ประกาศว่า พวกเขาขอรับแนวทางของพระพุทธเจ้าเป็นทางดำเนินชีวิต ไม่แกว่งไกว หวั่นไหวออกไปนอกทางอีกแล้ว พวกเขาประกาศว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมได้แจ่มชัดจริง ๆ สามารถเห็นแจ้งได้เดี๋ยวนั้นเลย
      เมื่อเห็นชัดว่าทางนั้นเป็นทางถูกชาวกาลามะก็ยึดเป็นทางเดินชีวิตของเองตลอดไป นั้นก็แสดงให้เห็นว่า ชาวกาลามะทั้งหลายได้มีศรัทธาถูกต้องมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า และพระธรรมมิใช่ด้วยเหตุอื่น แต่เพราะเห็นแจ้งพระธรรมด้วยตนเอง
        หลักความเชื่อในเกสปุตตสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ครอบคลุมในทุกประเด็น แม้กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป แต่ปรากฏการณ์ด้านความเชื่อที่เต็มไปด้วยความลุ่มหลง ตราตรึงด้วยความเห็นผิดนับบวันจะหนาแน่นมากขึ้นด้วยความรู้สึกเย่อหยิ่งในด้านความรู้และวิทยาการที่ทันสมัย
       แต่หากมองความรู้ที่มีอยู่ทั่วโลกล้วนเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยการล้อมกรอบต้อนให้คนเข้าไปอยู่ในคอกของตนโดยการหลอกล่อด้วยอภินิหารแบบเก่าที่ใช้กลอุบายจูงใจอย่างแนบเนียน สะกดให้คนที่ยอมจำนนตามหลักที่ว่า ที่เชื่อเพราะน่าเชื่ออย่างยอมจำนนไม่คลางแคลงสงสัย
        ความเชื่ออย่างมืดบอดดังกล่าวเป็นพันธนาการที่ผู้ถูกพันธนาการเต็มใจให้พันธนาการ โดยไม่เคยเห็นพิษเห็นภัยหรือรับรู้ความเจ็บปวด จากการพันธนาการนั้น จึงกลายเป็นเหยื่อของความเชื่อที่มีมารอบด้านไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศาสนา การค้า ทุกภาคส่วนล้วนกำลังแสวงหาสาวกผู้สวามิภักดิ์ด้วยกันทั้งนั้น หากมองให้ดี โลกนี้กำลังถูกคุกคามด้วยเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่ต้องการสยบให้มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้ความเชื่อของตน แล้วฉกฉวยประโยชน์อย่างง่ายดาย ทางรอดที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจะเปิดโล่ง ต่อเมื่อมนุษย์กลับมาสร้างภูมิสติให้เข้มแข็ง ภูมิปัญญาให้เฉียบคม ภูมิสมาธิ ให้มั่นคง ใช้พุทธธรรมตามหลักแห่งความเห็นแจ้ง ก็จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยจากอำนาจความเชื่อที่มาจากไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง

ที่มา : จากหนังสือ พุทธวิถี ของ ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ : บทที่ 71 เรื่องหลักความเชื่อ

    

Pages