วันพุธ, สิงหาคม 13, 2557

วาณิช จรุงกิจอนันต์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ตำนานนักเขียนฝีมือฉกาจ


    วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติกรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" มีผลงานมากมาย อาทิ แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, จดหมายถึงเพื่อน, ถึงแม่จำเนียร, เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน, ต้มยำทำแกง, ประเดี๋ยวเดียวที่จตุรัสแดง, ไอ้พวกสุพรรณ, รักคิดถึงกันไหม ฯลฯ งานเขียนของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านในวงกว้าง เนื่องด้วยฝีมือและลีลาการเขียนที่แพรวพราวมากด้วยชั้นเชิง

      วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน สร้างความอาลัยแก่นักอ่านเป็นอย่างยิ่ง

     บางส่วนจากหนังสือ ต้มยำทำแกง ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ จากบท อาหารเด็ก ๆ

......"กับข้าวสมัยก่อนโน้น ถ้าเป็นบ้านนอกทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องเตรียมการวุ่นวายหรอกครับ กินกันง่าย ยิ่งถ้าเป็นบ้านชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะมั่งมีอะไร คนสมัยอยุธยากินกันอย่างไรก็ยังทำกินกันอย่างนั้น
       อย่างผมไปบ้านยายซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณฯ ยายผมนั้นถ้าต้องมีการซดน้ำแกงเมื่อไหร่แกจะต้องต้มโคล้งปลาแห้ง ตั้งหม้อพอน้ำเดือดดีก็หักปลาแห้งใส่ลงไป ใส่น้ำปลา น้ำส้มมะขาม จากนั้นเอาพริกแห้งย่างไฟ ฉีกขยี้ใส่ลงเป็นอย่างสุดท้าย อ้อ...มีหัวหอมแดงสามสี่หัวทุบใส่ลงไปกับปลาแห้งด้วย คนสมัยอยุธยาก็น่าจะต้มโคล้งแบบเดียวกับยายผม
       ตั้งแต่เป็นเด็กมาผมนึกไม่ออกเอาเลยว่ามีกับข้าวอะไรที่ผมไม่กินหรือกินไม่ได้ ไม่ว่าที่บ้านจะทำกับข้าวอะไรมาก็กินได้ จะรสจัดรสจืดรสเผ็ดหรือมีผักหญ้าอะไรมาก็กินได้หมดไม่เหมือนลูก ๆ ผม ที่ไม่รู้พ่อแม่มันเลี้ยงมายังไง ไอ้นั่นไม่กินไอ้นี่ไม่เอา นี่กินไม่ได้นี่ไม่อร่อย หมั่นไส้ขึ้นมายังนึกอยากให้มันไปเป็นเด็กโตมาแบบผมที่สุพรรณฯ มีให้แดกก็ดีตายห่าแล้ว...นี่พูดแบบพวกสุพรรณฯ....


ที่มา : บทความบางส่วนจากหนังสือ ขวัญเรือน ฉบับ 982 ปักษ์หลังตุลาคม 2555 หน้า 191-192 :โป่งข่าม

วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2555

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

สุรพล สมบัติเจริญ (ตำนานที่ไม่เคยตาย)

        “ลืม...ผมหรือยังครับแฟน...เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง....”
บทเพลง “แฟนจ๋า” ที่ร้องออดอ้อนแฟนเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งนี้ ทำให้หลายคนที่ได้ฟัง อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเจ้าของผลงานเพลงคนนี้ เพราะเขาคือ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เมืองไทยเคยมีมา
สุรพล สมบัติเจริญ
         ผมเชื่อว่าถ้าใครเป็นแฟนเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ แล้วล่ะก็ ถ้าได้ยินเพลงนี้เข้า ต้องคิดถึงเขาแน่ ๆ คงไม่มีทางลืมเขาได้ลงคอ
        ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ วงการเพลงของโลก สูญเสีย เอลวิส เพรสลี่ย์ “ราชาเพลงร็อก แอนด์ โรล” ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวโลกรู้จักกันดี เขาจากไปพร้อมกับความโศกเศร้าเสียใจของเหล่าแฟนเพลงทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้น คนไทยทั้งประเทศก็ต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน กับการจากไปของ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม เช่นกัน แต่เป็นปี พ.ศ.๒๕๑๑
         ๑๖ สิงหาคม จึงเป็นวันที่แฟนเพลงต่างร่วมรำลึกถึงราชาเพลงผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนนี้ โดยเฉพาะรายการเพลงทางสถานีวิทยุต่าง ๆ คงเปิดเพลงของราชาเพลงทั้งคู่กันทั้งวันเลยทีเดียว
         เดิมทีเพลงลูกทุ่งนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเพลงในกลุ่มเดียวกันกับเพลงไทยสากล โดยยังไม่มีการแยกประเภทเพลงไทยสากลออกเป็น “ลูกทุ่ง” หรือ “ลูกกรุง” เพราะบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีในเวลานั้นต่างประสงค์ที่จะไม่ให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลออกจากกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แนวเพลงพื้นบ้านที่มีคำร้อง คำบรรยาย กล่าวถึงวิถีของชาวชนบท ชีวิตของหนุ่มบ้านนอก สาวบ้านนา และความยากจน ที่มีนักร้องกลุ่มหนึ่งในขณะนั้นนิยมร้อง ก็ถูกชาวบ้านเรียกขานกันว่าเป็น “เพลงตลาด”
          จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ รายการเพลงของสถานีไทยโทรทัศน์ ซึ่งจัดโดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ และเปิดเฉพาะ “เพลงตลาด” ที่ใช้ชื่อว่า “รายการเพลงลูกทุ่ง” นั้น กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดาผู้ฟัง ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เพลงลูกทุ่ง”  ก็ถูกแยกออกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดยปริยาย
          ในหนังสือกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” หมายถึง “เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติ และวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง”
สุรพล
          ความนิยมของวงดนตรีลูกทุ่งยุคนั้นนอกจากจะวัดกันที่พวงมาลัยที่เหล่าแฟนเพลงคล้องให้นักร้องจนท่วมหัวแล้ว ยังวัดกันที่การประชันวงกันแบบซึ่ง ๆ หน้า ชนิดที่เรียกได้ว่าหันหน้าชนกันครั้งละ ๓ – ๔ วง ตามงานประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่มีชื่อเสียงทางภาคกลาง เช่น จังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม หากแฟนเพลงไปรวมตัวกันชมดนตรีอยู่ที่หน้าวงไหนมากที่สุด ก็ถือกันว่าวงนั้นเป็นวงยอดนิยมของขวัญใจมหาชนตัวจริงเสียงจริง
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นผู้ที่ทำให้เพลงลูกทุ่งพุ่งผงาดอยู่ในความนิยมของวงการเพลง ด้วยลีลาและรูปแบบเฉพาะตัว การได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ก็เพราะความมีอัจฉริยะในตัวเองที่สามารถแต่งเพลงเองและร้องเพลงเองได้ด้วย
           เขาเริ่มชีวิตการร้องเพลงจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ และมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ต่าง ๆ ที่กองทัพอากาศได้รับเชิญไปให้แสดง จนได้รับการสนับสนุนให้ได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง “น้ำตาลาวเวียง” ตามมาด้วยเพลง “ชูชกสองกุมาร” ที่ทำให้ “สุรพล สมบัติเจริญ” เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟน ๆ
            สุรพล สมบัติเจริญ เป็นคนที่มีใจฝักใฝ่ในการทำเพลงตลอดเวลา ไม่ว่าตนเองจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม คนใกล้ชิดคนหนึ่งของเขาเล่าว่า “ค่ำวันหนึ่ง สุรพล ชวนผมขี่รถเวสป้าคันโปรดเพื่อที่จะไปธุระด้วยกัน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย อยู่ ๆ เขาก็ฮัมขึ้นเป็นเพลงว่า หนาวจะตายอยู่แล้ว...ว...ว...และหลังจากนั้นไม่กี่วันก็กลายมาเป็นเพลงสุดฮิตอีกเพลงของเขา...หนาวจะตายอยู่แล้ว”
            นอกจากนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ยังทำหน้าที่เป็นครูเพลง ทั้งแต่งเพลงให้คนอื่นร้อง ทั้งปลุกปั้นนักร้องรุ่นน้องจนโด่งดังมีชื่อเสียงอีกมากมาย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เป็นต้น
           สุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่จังหวัดนครปฐม เมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี เขาจากไปโดยได้ทิ้งผลงานเพลงที่แต่งเองและร้องเองเป็นชิ้นสุดท้ายเอาไว้ นั่นคือเพลง “๑๖ ปีแห่งความหลัง” และยังเป็นเพลงสุดท้ายที่เขาร้องก่อนก้าวลงจากเวทีในคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๑ อีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือมอร์มูฟแม็กกาซีน ( Moremove Magazine) เล่มที่ ๓๓ ประจำเดือน สิงหาคม ๒๐๑๐

Pages