วันอาทิตย์, กรกฎาคม 15, 2561

รีวิวเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า BRAUN รุ่น M-30


รีวิวเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า BRAUN รุ่น M-30

       ผมคิดว่าปกติผู้ชายโดยส่วนใหญ่ มักจะมีปัญหาเรื่องการโกนหนวดไม่มากก็น้อย อย่างผมเองบางครั้งนอกจากมีดโกนจะโกนหนวดให้เกลี้ยงแล้ว ยังโกนผิวหนังให้เลือดออกเป็นแผลอีกต่างหาก แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การใช้มีดโกนหนวดมันทำให้โกนเกลี้ยงเกลาจริง ๆ
      ลองมาคิดเล่น ๆ ดู ปีนึงสิ้นเปลืองกับการซื้อใบมีดโกนหนวดไปก็มิใช่น้อย ก็หนวดเคราผู้ชายมันขึ้นเป็นปกติทุกวันอยู่แล้วนี่นา แตกต่างแค่ว่าใครจะขึ้นมากขึ้นน้อย หรือขึ้นหร่อมแหรม บางคนหนวดไม่เข้มก็นาน ๆ โกนสักครั้งก็ยังได้ แต่สำหรับผมถ้ามากกว่าอาทิตย์ หน้าตาก็เปลี่ยนเป็นโจรป่าในทันที
BRAUN รุ่น M-30
BRAUN รุ่น M-30
      ก่อนหน้านี้เพื่อนสนิทเคยซื้อที่โกนหนวดไฟฟ้ามาให้อันนึงของ BRAUN นี่ล่ะ ก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดจะใช้หรอก แต่เนื่องจากต้องทำงานต่างจังหวัดบ่อย ๆ บางครั้งถ้าลืมโกน ลูกค้าก็อาจจะไม่ต้อนรับก็ได้ อย่างน้อยมีที่โกนหนวดไฟฟ้าติดรถไว้ ก็คงจะพอช่วยได้บ้าง แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก็บอกก่อนเลยว่าผมไม่ได้ประทับใจมันซักเท่าไหร่ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นโกนหนวดแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่ของผมเวลาใช้ที่โกนหนวดไฟฟ้าทีไร มันจะมีสิวอักเสบขึ้นที่ใต้คางบางละ หรือริมฝีปากบ้างละ ทำให้กลัวกับการใช้ที่โกนหนวดไฟฟ้าอยู่ไม่น้อย
      จนกระทั่งใช้มาได้หลายเดือนอยู่ มอเตอร์ที่เคยดังเวลาโกนก็เงียบไปเฉย ๆ  คงถึงเวลาแล้วสินะ ผมเลยต้องกลับมาใช้วิธีการดั้งเดิมตั้งแต่ต้น แล้วก็เช่นเคย...มีแผลให้เลือดไหลแสบ ๆ เป็นบางครั้ง
      แต่ใช่ว่าจะไม่ประทับใจกับของขวัญที่เพื่อนผมให้มาเลย อย่างแรกคือมันพกสะดวกกระทัดรัด มีบางคนอาจจะแย้งว่ามันก็เปลืองถ่านอยู่นะ ก็จริงอยู่ แต่โชคดีที่ผมมีถ่านชาร์ตที่เคยซื้อมาใส่กล้อง ก็เลยได้ตัวช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไป ข้อต่อมาคือถ้าคิดค่าใช้จ่ายจริง ๆ ใบมีดโกนหนวดมันก็ไม่ได้ราคาถูกเลย แต่เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า เราไม่ต้องเปลี่ยนใบมีดกันบ่อย ๆ ถึงแม้ราคาของเครื่องจะแพงกว่ากันหลายเท่าก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้ว ค่อนข้างคุ้มค่ากว่า และนี่ก็คงเป็นอีกเหตุผลนึงที่ผมกลับมาใช้ที่โกนหนวดไฟฟ้า
      สำหรับที่โกนหนวดไฟฟ้า BRAUN รุ่น M-30 ที่ผมได้มาใหม่นี้ แฟนผมซื้อให้เนื่องจากทางบริษัทส่งไปดูงานที่ญี่ปุ่น เทียบราคากับในไทยแล้วก็ถูกกว่ากันเกือบครึ่งนึง (ผมเช็คกับเวปของเซนทรัล) คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 670 บาท  ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าของยี่ห้ออื่นเพราะฉะนั้นมันจะเป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ของผมเองนะครับ
BRAUN รุ่น M-30
BRAUN รุ่น M-30

      ข้อดีของ BRAUN รุ่น M-30
  • ขนาดกำลังเหมาะมือ ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปทำให้เวลาใช้งานจับถนัดมือ
  • ใช้งานง่าย ไม่ต้องเปิดฝาแค่หมุนตัวปิดใบมีดไปไว้ด้านล่างแล้วกดเลื่อนเปิดเครื่องก็ใช้งานได้เลย 
  • น้ำหนักกำลังดีไม่เบาไปจนโหวงเหวง
  • ดีไซน์ดูหรูหราน่าใช้ ไฮโซ
  • กันน้ำได้ระดับนึง ข้อดีนี้มันทำให้เราไม่ต้องกังวลมากเวลาล้างทำความสะอาดผงหนวด
  • แผงใบมีดเป็นสแตนเลสทำให้ไม่เป็นสนิม กดยุบตัวได้เล็กน้อย ทำให้โกนได้แนบกับผิวหน้ามากขึ้น
  • มี Safety กับเลื่อนสวิทช์เปิดเครื่อง โดยหากเรายังไม่เลื่อนหมุนฝาปิดไปทางด้านล่าง เราจะกดเลื่อนสวิทช์เปิดให้เครื่องทำงานไม่ได้
  • มีแปรงปัดเศษหนวดมาให้ในตัว
  • สัญลักษณ์บอกขั้วการใส่แบตเตอรี่ชัดเจน 

      ข้อเสียของ BRAUN รุ่น M-30 
  •  ไม่มีกระจกไว้ส่องเวลาใช้งานโกนหนวดนอกบ้าน (ตัวเก่าที่เพื่อนผมซื้อให้ มันมี!!!)
  •  ฝาที่เปิดใส่ถ่านออกจะงง ๆ หากไม่อ่านคู่มือ หรือใช้งานครั้งแรก (ต้องหมุนบิด 90 องศาทวนเข็มนาฬิกาและดึงออก)
  • แปรงปัดเศษหนวดอยู่ด้านล่างและไม่มีอะไรปิด อาจจะโดนจนแปรงเสียรูปได้ (ขนแปรงบาน)
BRAUN รุ่น M-30
ช่องใส่แบตเตอรี่ BRAUN รุ่น M-30
  • เนื่องจากแผงใบมีดเป็นสแตนเลส เวลาใช้งานไปซักพักใหญ่ ๆ เหมือนเอาแผ่นเหล็กร้อน ๆ มาถูบริเวณรอบปากและใต้คาง (สาเหตุที่ผมเป็นสิวจากตัวก่อนก็เพราะตรงนี้แหละ) ตอนนี้ทำได้ก็โดยโกนให้เสร็จเร็ว ๆ ครั้งหน้าจะลองถูสบู่ก่อนโกนเผื่อจะช่วยลดความร้อนได้
        ส่วนความทนทานนั้น เนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้งานจึงยังไม่รู้ว่าทนทานแค่ไหน (เริ่มใช้เมื่อ 16/07/2561)
        ผมก็คงสรุปข้อดีข้อเสียจากการใช้งานได้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนการกินแบตมั๊ยผมก็ไม่รู้จะเทียบกับรุ่นไหน เพราะผมไม่เคยใช้ยี่ห้ออื่น ใครเคยใช้ก็แชร์ความคิดเห็นกันได้นะครับ หากจะถามว่าถ้าจะซื้อเครื่องโกนหนวดไฟฟ้ารุ่นไหนดี หรือยี่ห้อไหนดี ผมก็อยากให้คุณไปลองดูตัวจริงกันก่อน ส่วนจะสั่ง online หรือ offline ก็แล้วแต่จะสะดวก ส่วนผมก็หวังว่าคงจะทำให้เพื่อน ๆ ได้ไอเดียในการเลือกซื้อเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนะครับ ขอบคุณคร้าบ


วันศุกร์, มิถุนายน 29, 2561

ความบังเอิญ ปาฏิหาริย์ หรือแค่เหตุการณ์ธรรมดา

ความบังเอิญ ปาฏิหาริย์ หรือแค่เหตุการณ์ธรรมดา
ต้นไผ่กับใบไม้สีเหลือง
ใบไม้สีเหลืองร่วงหล่นมาติดบนกิ่งไผ่   
         หลายครั้งในชีวิตของคนเราที่ได้พบกับอะไรบางอย่าง ที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยเฉพาะในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เรื่องราวนี้มักกลายเป็นเรื่องไร้สาระ
         ผมนึกถามตัวเองว่า มีโอกาสสักเท่าใดกันนะที่ใบไม้ที่อยู่ในสวนต้นไผ่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะได้ร่วงหล่นลงมาจากกิ่ง แล้วค้างอยู่บนต้นไผ่ที่ีมีกิ่งเล็ก ๆ เหลืออยู่เพียงปลายนิ้วก้อย เราหลายคนอาจเคยเรียนคณิตศาสตร์กันมา เราอาจคิดคร่าว ๆ ถึงความน่าจะเป็น ซึ่งผมคิดว่า "โอกาสของการเกิด" มันน้อยมาก ๆ 
         นั่นก็ยังไม่เท่ากับโอกาสของผมที่จะได้ไปพบและถ่ายรูปนี้กลับมา ผมถือกล้องเพื่อไปถ่ายภาพนกในสวนไผ่ เพราะผมคิดว่าคงมีนกหลายชนิดที่อยู่ในนั้น พื้นที่โดยรอบ ประมาณระยะทางเกือบสองกิโล ผมเดินถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ เพลิน ๆ แล้วก็สะดุดกับภาพตรงหน้าเหนือพื้นดินประมาณสี่เมตรถึงห้าเมตรเห็นจะได้
         แปลกอยู่ ..ที่ผมคิดเล่น ๆ ว่า ตอนเย็น ๆ มีคนมาวิ่งออกกำลังกายกันที่นี่มากมาย จะมีซักคนไหม ที่จะได้แหงนหน้าขึ้นไปเห็นภาพนี้
         ภาพที่ได้พบ โดยบังเอิญนี้ มันทำให้รู้สึกติดตาตรึงใจอย่างบอกไม่ถูก ผมคิดต่อไปว่า หากมีลมแรง ๆ พัดมาก่อนหน้าที่ผมจะเดินมายังจุดนี้ ต้นไผ่ต้นนี้ก็คงเหมือนต้นไผ่ทั่ว ๆ ที่ผมไม่ได้คิดที่จะเหลียวมองเลย ใบไม้ใบนี้ก็จะเป็นเพียงใบไม้ธรรมดาที่กองกันอยู่ตามพื้นรอวันเปื่อยผุพังลงไป โดยไม่ได้ผ่านสายตาผมเลยซักนิด
         แต่โชคดีที่เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้เกิด หรือยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้แยกจากกันในระหว่างที่ผมกำลังถ่ายภาพ !!!
         คนเรามักเจอกับสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้อยู่เสมอ แต่เมื่อเรามีสติ หรือความสงบ เราจึงจะได้พบและขบคิดสิ่งลึกซึ้งซึ่งมันซ่อนอยู่ เหมือนกับที่ผมเขียนโพสนี้อยู่ ผมคิดเล่น ๆ ถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีซักกี่คนที่ได้เข้ามาอ่านเรื่องนี้ และเข้าใจสิ่งที่ผมอยากจะบอกเหล่านี้ ...โอกาสของการเกิด  มันก็คงน้อยมาก ๆ 
         และถ้าคุณได้เข้ามาอ่านจนจบ ผมคิดนะ ว่านั่นก็เป็นเรื่อง ปาฏิหาริย์ สำหรับผมเช่นกัน

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 20, 2561

จุลศักราช

จุลศักราช (จ.ศ.; บาลี: Culāsakaraj; พม่า: ; เขมร: ចុល្លសករាជ) เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638) นับรอบปีตั้งแต่ 16 เมษายน ถึง 15 เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ทว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้นเป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อจะประสูติ สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งขึ้นในปีที่กษัตริย์ปยูขึ้นครองราชย์ และใช้สืบต่อมาจนถึงอาณาจักรพุกาม[1] เมื่อสมัยอาณาจักรอโยธยารับศักราชนี้ไปใช้ เลยเกิดความเชื่อกันว่าเป็นศักราชของชาวพม่า จุลศักราชถูกนำมาใช้แพร่หลายทั้งในอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัยสมัยหลัง และอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ทรงตัดปีจุลศักราช และใช้ปีศักราชจุฬามณีแทน เป็นผลทำให้ปีนักษัตรคลาดเคลื่อนไปสามปี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนกลับไปใช้ปีจุลศักราชตามเดิม และตกทอดมาถึงปัจจุบัน การคำนวณปี พ.ศ. จาก จ.ศ. ปฏิทินไทยให้ใช้ปี จ.ศ. บวก 1181 ก็จะได้ปี พ.ศ. (เว้นแต่ในช่วงต้นปีตามปฏิทินสุริยคติที่ยังไม่เถลิงศกจุลศักราชใหม่)
ในเอกสารโบราณของไทยจำนวนไม่น้อย นิยมอ้างเวลา โดยใช้จุลศักราช โดยใช้ควบคู่กับปีนักษัตร หรือ ระบุเฉพาะเลขตัวท้ายของจุลศักราช และปีนักษัตร ทำให้สามารถระบุปี ได้ในช่วงกว้างถึงรอบละ 60 ปี (มาจาก ครน. ของรอบ 10 ปีจากเลขท้ายของจุลศักราช และรอบ 12 ปีของปีนักกษัตร)

การเรียกศกตามเลขท้ายปี

ในระบบการเรียกศกตามเลขท้ายปีจุลศักราช นิยมเรียกดังนี้
  1. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก "เอกศก"
  2. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก "โทศก"
  3. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก "ตรีศก"
  4. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก "จัตวาศก"
  5. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก "เบญจศก"
  6. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก "ฉศก"
  7. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก "สัปตศก"
  8. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก "อัฐศก"
  9. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก "นพศก"
  10. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก "สัมฤทธิศก"

วันศุกร์, พฤษภาคม 11, 2561

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคต่อ)

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคต่อ)    

การเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างภายในตู้เย็น (ภาคต่อ)



ขนาดหลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED เทียบขนาดกับ หลอดไส้
ขนาดหลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED เทียบขนาดกับ หลอดไส้

      หลังจากลองนั่งคิดสักพักหนึ่ง ก็เลยลองไปหาข้อมูลต่อว่ามีหลอดใดที่จะนำมาเปลี่ยนแทนหลอดเดิมได้บ้าง ขนาดหลอดไฟนี่รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นหลอดที่อายุการใช้งานยาวนานกว่านี้ล่ะ จะมีมั๊ย และที่สำคัญมันน่าจะประหยัดไฟหน่อยนะ (จริง ๆ  มันก็ไม่น่าเปลืองไฟหรอกนะ เพราะใช้กระแสแค่ตอนเปิดตู้เย็นเท่านั้น )
การใส่หลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED
การใส่หลอดไฟตู้เย็น E14 แบบ LED
       ลองเข้าไปดู Aliexpress ลองค้นหาคำว่า หลอด E14 ส่วนใหญ่ก็จะโชว์หลอด LED ซะส่วนใหญ่ มีเทียบให้ดูด้วยว่าความสว่างเท่ากัน แต่ประหยัดไฟกว่ากันหลายเท่า จึงกดสั่งมาลองดู 2 หลอด
       ประมาณหนึ่งอาทิตย์ของก็มาถึง (เร็วมาก) ลักษณะก็ตามรูป แต่ขนาดจะใหญ่กว่าของเดิมค่อนข้างมาก ใจนึงก็พะวงว่าจะใส่หลอดไฟ LED ที่สั่งมาได้มั๊ย แอบลุ้นอยู่ แต่พอหมุนเกลียวเข้าไปแล้ว ปรากฏว่าใช้ได้ แต่หลอดจะเลยลงมาด้านล่างของช่องใส่หลอด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก
ระดับแสงไฟตู้เย็นของหลอด E14 แบบ LED
ระดับแสงไฟตู้เย็นของหลอด E14 แบบ LED
       สำหรับความสว่าง จากที่เห็นก็จะสว่างกว่าเดิมนิดนึง จริง ๆ หลอดที่สั่งมาจากเวปมีหลายขนาดตามจำนวน LED แต่ที่สั่งมานั้นกลัวว่าแสงจะไม่พอ เลยสั่งขนาดที่มี led มากตัวหน่อย ขนาดหลอดก็เลยค่อนข้างยาว
      ในส่วนของผู้อ่านที่อยากจะลองเปลี่ยนเป็นหลอด LED ดู ผู้เขียนคิดว่าหากซื้อหาได้ในราคาไม่แพงก็น่าสนใจอยู่ แต่ก็ต้องดูระยะยาวอีกทีว่าอายุการใช้งานจะยาวนานหรือไม่ ราคาค่าตัวหลอดที่ซื้อมาเปลี่ยนนั้น ราคาก็ตกประมาณหลอดละ 50 บาท ซึ่งสำหรับผู้เขียนคิดว่าเมื่อแลกกับค่าไฟฟ้าที่ลดลงนิดนึงกับอายุการใช้งานที่นานมากขึ้น(หวังไว้อย่างนั้น) ราคาก็น่าสนใจอยู่ แถมลดความร้อนจากหลอดไส้ไฟได้นิดนึงอ่ะนะ

วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2561

การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคแรก)


การเปลี่ยนหลอดไฟตู้เย็น   HITACHI รุ่น R-64S-1 (ภาคแรก)

      เป็นเรื่องน่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย เมื่ออยู่ ๆ ตู้เย็นที่บ้านก็มืดสนิทตอนเปิดเพื่อที่จะหยิบน้ำขึ้นมาดื่ม ตอนแรกเข้าใจว่าปลั๊กหลวมหรือหลุดจากเต้าเสียบ ..แต่ความเย็นก็ยังเย็นปกตินี่นา... คิดอย่างนั้นจีงเริ่มเช็คจากส่วนที่ง่ายที่สุดก่อนดีกว่า
“หลอดไฟตู้เย็น”
       เอาของที่วางเกะกะมือออก แล้วค่อย ๆ ล้วงเข้าไปบิดหลอดไฟออก จนหลอดไฟตู้เย็นค่อย ๆ คลายออกมา หน้าตาก็เป็นแบบที่เห็นนี่แหละ มีคราบสีดำติดอยู่โดยรอบหลอดแก้ว เมื่อส่องดูภายในกับแสงสว่าง ก็พบว่าไส้หลอดขาดเรียบร้อย คงต้องถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วละ
หลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
หลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
      โดยปกติเราก็จะหยิบหลอดไฟตู้เย็นไปที่ร้านขายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ หรือตามร้านขายอะไหล่ตู้เย็น แล้วถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้ถือหลอดไฟตู้เย็นไปด้วย เราจะบอกกับคนขายว่าอย่างไรนะ?
คิดว่าหลายคนคงเคยพบกับปัญหาแบบนี้กันมาบ้าง  แน่นอนว่าหลอดไฟตู้เย็นจะมีขนาดแรงดันและกำลังไฟบอกอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าขนาดของเกลียวมันเท่าไหร่กันหล่ะ?
        อย่างหลอดตู้เย็นที่ขาด จะพิมพ์ที่ฐานหลอดว่า 230V/15W  แต่หลอดไฟขนาด 15 W. เอง ก็มีหลายขนาด ลองเอาไม้บรรทัดวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดไฟตู้เย็นได้ประมาณ 13 มิลลิเมตร กว่า ๆ ลองค้นข้อมูลก็พบว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับหลอดไฟชนิดนี้อยู่ไม่น้อย เลยขอเอามาแชร์เป็นความรู้ดีกว่า
        ปกติถ้าเราสังเกต จะพบว่าหลอดไฟขั้วเกลียว มักจะมีรหัสหลอดตัวหน้าเป็นอักษรตัว E หรือบางครั้งก็ไม่มี... แล้วอักษรตัว E ที่ขั้วหลอดไฟหมายถึงอะไรกันนะ
การวัดขนาดหลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
การวัดขนาดหลอดไฟตู้เย็น  HITACHI รุ่น R-64S-1
        อักษรตัว E ที่เราเห็นที่ฐานของหลอดไฟ มาจากคำว่า Edison (ชื่อเต็ม คือ Thomas Alva Edison) ซึ่งเป็นชื่อของผู้คิดค้นและประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาเพื่อให้ทั้งโลกได้สว่างไสว สำหรับประวัติของผู้ชายคนนี้ผู้เขียนจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังกันอีกทีนะครับ
       ส่วนตัวเลขที่อยู่ข้างหลังตัวอักษรตัว E แสดงถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของขั้วหลอดไฟ (ฐานที่จะใส่ขั้วหลอดลงไป) โดยจะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร โดยตามมาตรฐานที่กำหนด มีตั้งแต่ขนาด E5 ถึง E40 หมายความว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของขนาดหลอดไฟมีตั้งแต่ขนาด 5 มิลลิเมตร ถึงขนาด 40 มิลลิเมตร ( 4 เซนติเมตร ) แต่ที่ใช้โดยทั่วไปเป็นสากลทั่วโลก ร้อยละ 80 จะเป็น E5, E12, E14, E27, E40 สำหรับประเทศไทยที่ผู้เขียนเห็นใช้บ่อย ๆ จะเป็น  E14 และ E27 เป็นส่วนใหญ่ โดยมีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการจำว่า  ขั้ว E14 มีขนาดเท่ากับนิ้วก้อย ส่วน E27 มีขนาดเท่ากับนิ้วโป้ง
          สำหรับเส้นผ่านศูนย์กลางที่วัดได้ 13 มิลลิเมตรกว่า ๆ ก็จะได้ขนาดหลอดตู้เย็นเทียบเท่าเบอร์ E14 (เนื่องจากขนาดขั้วหลอดจะเล็กกว่าขั้วของฐานใส่หลอดเล็กน้อย มิฉะนั้นจะใส่ขั้วหลอดไม่เข้า)
         ครั้งต่อไปหากไม่อยากถือหลอดตู้เย็นไป หรือว่าลืมถือหลอดไฟตู้เย็นไปร้านขายอะไหล่ ก็ให้วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของขั้วหลอดไฟ ได้ค่าประมาณเท่าไหร่ ก็เท่ากับมาตรฐานที่เราต้องการ หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อหลอดไฟตู้เย็นในครั้งหน้ากันนะครับ

Pages