วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 03, 2555

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 

      ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ด้านการเมืองการปกครองของไทยช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราว 70 ปี ที่ผ่านมา
    แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่มีอายุสูงวัยกว่านั้นหรือเกิดก่อนนั้นคงจะมีน้อยเต็มที หลายท่านก็ยังคงเป็นเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องการเมือง...ทว่านาม ปรีดี พนมยงค์ นามนี้ดูเหมือนว่าชาวไทยแทบทุกวัยในวันนี้จะคุ้นเคย แต่ก็อาจจะยังไม่รู้จักมักจี่กันดีว่า  ท่านผู้นี้คือใครกัน
          นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗  ตำแหน่งนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้นาม ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
          หนึ่งในกลุ่มคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ประสานงานขบวนการเสรีไทยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนแรก ซึ่งฐานะหลังนี้เองที่ยิ่งสนับสนุนให้ท่านโดดเด่นในวงการการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง  เพราะศิษย์จากรั้วมหาวิทยาลัยนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการปกครองประเทศไทยตลอดมา
          ประวัติ: ท่านเป็นชาวกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเรือนแพย่านวัดพนมยงค์ ลูกชาวนาชาวสวนที่มีฐานะดี สอบไล่ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับปริญญาทางกฎหมาย และได้ “ลิซองซิเอ ทางกฎหมาย” จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย ( Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส
           หลังจากกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม แล้วย้ายไปเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
           หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหารราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยชุดแรกสำเร็จ ท่านเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
            เมื่อถึงช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเสนอรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งต่อมาไม่นานพันเอกพระยาพหลพล-พยุหเสนาทำรัฐประหารอีกครั้งและได้ตั้งคณะกรรมการ สอบสวนคดีดังกล่าวปรากฎว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทิน และนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส
           นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และช่วงที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยพระแสงปืน  นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของเขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบได้ ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
          ต่อมามีรัฐประหารอีกครั้ง นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีไปพำนักอยู่ที่มาเลเซีย จนลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในจีน กระทั่งถึงแก่สัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๓ ปี

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

Pages