วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 17, 2555

วันวิสาขบูชา บูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ

วันวิสาขบูชา บูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
              วันมหามงคล ปี พ.ศ.๒๕๕๕  วันวิสาขบูชาตรงกับวันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่พระพุทธศาสนา ได้ตั้งมั่นยืนหยัดอยู่มาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน ๒,๖๐๐ ปี นับเป็นอภิลักขิตสมัยมิ่งมงคลพิเศษ
               โพธิญาณ การรู้เท่าทันและเข้าใจทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรคงที่และทุกสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลง หากพุทธศาสนิกชนยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนแห่งองค์พระศาสดาย่อมนำพา มาถึงความสุขสู่ชีวิตอย่างยั่งยืน
                วันวิสาขบูชา ปี พุทธศักราช ๒๕๕๕ นับเป็นเวลา ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีประวัติความเป็นมา  และความเจริญรุ่งเรืองยาวนาน ซึ่งเกิดขึ้นจากความพากเพียรพยายาม และพระญาณการตรัสรู้อันสูงสุดของพระพุทธเจ้า เมื่อวันเพ็ญวิสาขบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้จึงได้โปรดแสดงปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทำให้เกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นในโลก ถือเป็นวันเกิดพระพุทธศาสนา
                  พระบรมสารีริกธาตุ คืออะไร
พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระธาตุส่วนต่าง ๆ ที่บังเกิดแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระบรมศาสดา เป็นปูชนียธาตุอันสูงค่าและศักดิ์สิทธิ์ควรค่าแก่การสักการะบูชา และเป็นสัญลักษณ์การดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา
                  พระอรหันตธาตุ คืออะไร
พระอรหันตธาตุ คือ ธาตุส่วนต่าง ๆ ขององค์พระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว กระดูกส่วนต่าง ๆ ได้แปรสภาพเป็นอัฐิธาตุซึ่งในเมืองไทยมีพระอริยสงฆ์หลายท่านที่บรรลุธรรมขั้นสูงจนอัฐิได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุ

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 13, 2555

สัตว์ป่าที่ต้องสงวนและคุ้มครอง 15 ชนิด

สัตว์ป่าที่ต้องสงวนและคุ้มครองมี 15 ชนิด

       โลกเรานี้ไม่ใช่เป็นเพียงที่อยู่ของคนแต่ที่จริงมันเป็นของสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตั้งแต่เชื้อจุลชีพ กระทั่งพืช และสัตว์ใหญ่น้อย
และเราก็ปฏิเสธมันเพื่อที่จะครอบครองโลกเพียงลำพังมนุษย์นั้นไม่ได้ด้วย สัตว์ป่าทุกชนิดล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของป่า ป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมบนผิวโลกที่คนเราใช้อาศัยอยู่ ทุกอย่างเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ
          สำหรับประเทศไทยเรามีกฎหมายเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าหายาก เรียกว่า สัตว์ป่าสงวน
          สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย
          สัตว์ป่าสงวนของไทยเรามีทั้งสิ้นรวมเป็น ๑๕ ชนิด ได้แก่
          นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ชื่ออื่น นกตาพอง เป็นนกนางแอ่นชนิดหนึ่ง ขนาดวัดจากปลายจะงอยปากถึงโคนหางยาวประมาณ ๑๕ ซม. พบบริเวณบึงบรเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพียงแห่งเดียวในโลก
          แรด ชื่ออื่น แรดชวา ในอดีตแรดเคยหากินอยู่ทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เบงกอลมาทางตะวันออกจนถึงพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เรื่อยไปจนถึงเวียดนาม ทางใต้ก็แผ่คลุมพื้นที่ตลอดคาบสมุทรมลายู รวมถึงเกาะสุมาตราและชวา ทางเหนือก็มีเขตหากินไปไกลถึงมณฑลหูหนานและเสฉวน
           กระซู่ ชื่ออื่น แรดสุมาตรา เป็นแรดพันธุ์เล็กที่สุดในบรรดาแรด ๕ ชนิดของโลก มี ๒ นอ ความสูงที่ระดับไหล่ ๑.๐-๑.๔ เมตร น้ำหนัก ๙๐๐ – ๑๐๐๐ กิโลกรัม มีขนปกคลุมทั้งตัว ปีนเขาเก่ง
           เลียงผา เป็นสัตว์กีบคู่ มีเขาจำพวกแพะ อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาหรือถ้ำ สามารถเคลื่อนที่ในที่สูงชันอย่างว่องไวและปราดเปรียวมาก สามารถว่ายน้ำข้ามระหว่างเกาะกับแผ่นดินได้
            สมัน ชื่ออื่น เนื้อสมัน  เป็นกวางขนาดกลาง ความสูงระดับไหล่ ๑ เมตร ได้ชื่อว่ามีเขาสวยที่สุด การแตกแขนงของเขาเมื่อโตเต็มวัยจะมีลักษณะคล้ายสุ่มที่หงายขึ้น จึงเรียกว่า “กวางเขาสุ่ม”
             กูปรี ชื่ออื่น วัวเขาเกลียว,โคไพร เป็นสัตว์ป่าตระกูลเดียวกับกระทิงและวัวแดง น้ำหนักประมาณ ๗๐๐ – ๙๐๐ กิโลกรัม อยู่รวมกันเป็นฝูง ๒ – ๒๐ ตัว มีลักษณะพิเศษคือ ตัวผู้ที่โตเต็มที่มักจะมีปลายเขาที่แตกเป็นพู่
             นกแต้วแล้วท้องดำ ขนาดลำตัววัดจากจะงอยปากถึงโคนหางยาว ๒๑ เซนติเมตร ชอบกินไส้เดือน ส่งเสียงร้อง “วัก วัก” เพื่อประกาศอาณาเขตและร้องหาคู่ ส่งเสียงร้อง “แต้ว แต้ว” ขณะตกใจ
             ควายป่า ชื่ออื่น มหิงสา เป็นบรรพบุรุษของควายบ้าน ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าควายบ้าน รอบคอด้านหน้ามีรอยสีขาว เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวหงายอยู่  เรียกว่า “รอยเชียดคอ” ขาทั้งสี่มีสีขาวเหมือนใส่ถุงเท้า
             แมวลายหินอ่อน เป็นแมวป่าขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ ๔-๕ กิโลกรัม อยู่ในป่าดงดิบและป่าดิบชื้น ชอบอยู่บนต้นไม้ หากินในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ แมลง งู นกหนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก
              กวางผา ชื่ออื่น ม้าเทวดา มีลักษณะคล้ายแพะ น้ำหนักประมาณ ๒๐-๓๒ กิโลกรัม มีขาแข็งแรงสามารถกระโดดตามชะง่อนผมได้อย่างว่องไว และแม่นยำ พบตามยอดเขาสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี
               เก้งหม้อ ชื่ออื่น เก้งดำ, กวางจุก เป็นเก้งที่มีสีคล้ำกว่าเก้งธรรมดา ทางด้านบนสีดำตัดกับสีขาวด้านล่างชัดเจน บริเวณโคนเขามีขนยาวแน่นและฟูเป็นกระจุก ชอบอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ ในป่าดงดิบตามลาดเขา
               สมเสร็จ ชื่ออื่น ผสมเสร็จ เป็นสัตว์หากินกลางคืน น้ำหนักประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ กิโลกรัม มีประสาทสัมผัสทางกลิ่นและเสียงดีมาก มีจมูกเหมือนงวงช้าง รูปร่างเหมือนหมู เท้าเหมือนแรด จึงเรียกว่าผสมเสร็จหรือสมเสร็จ
                พะยูน ชื่ออื่น หมูน้ำ, ปลาพะยูน สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม น้ำหนักประมาณ ๓๐๐ กิโลกรัม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินหญ้าทะเลตามบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง
ละอง ละมั่ง  ละอง เป็นชื่อเรียกตัวผู้ ส่วนละมั่งเป็นชื่อเรียกตัวเมีย ความสูงที่ระดับไหล่ ๑.๒-๑.๓ เมตร น้ำหนักประมาณ ๙๕-๑๕๐ กิโลกรัม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ  

                      ทั้ง ๑๕ ชนิด ใครได้เห็นก็เรียกว่า นับเป็นบุญโขแล้ว

ที่มา : จากคอลัมน์ Living Together , นิตยสาร Together magazine ฉบับที่ 30 เมษายน 2012
   

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 03, 2555

ความสำคัญในนาม ปรีดี พนมยงค์


ความสำคัญในนาม ปรีดี พนมยงค์ 

    วันปรีดี พนมยงค์ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันเกิด ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล เมือ ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้รับการประกาศยกย่องจากยุเสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกและได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโก
   ถนนประดิษฐ์มนูธรรม  เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช กรุงเทพฯ มีความยาว ๑๒ กิโลเมตร
   ถนนปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ ๓ สาย คือที่ถนนสุขุมวิท ๗๑  ถนนใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
    สะพานปรีดี – ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักอันเป็นทางเข้าออกหลักของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งตามชื่อนาย ปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
     อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ บริเวณลานหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และหน้าอาคารยิมเนเซียม ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
     อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ ๒ ที่คือบริเวณที่ดินถิ่นกำเนิดของนายปรีดี จ. พระนครศรีอยุธยาและห้องอนุสรณ์สถานบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     สถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ๕๕
     หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     ปรีดีคีตานุสรณ์ คือ บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข ๔ ประพันธ์โดยคีตกวี สมเถา สุจริตกุล ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์
      วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
       นกปรีดี (Chloropsis Aurifrons Pridii) เป็นชื่อนกชนิดย่อยของนกเขียวก้านทองหน้าผากสีทอง ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
          ปลาปล้องทองปรีดี (Schistura Pridii) เป็นปลาที่ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 

      ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ด้านการเมืองการปกครองของไทยช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือราว 70 ปี ที่ผ่านมา
    แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่มีอายุสูงวัยกว่านั้นหรือเกิดก่อนนั้นคงจะมีน้อยเต็มที หลายท่านก็ยังคงเป็นเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องการเมือง...ทว่านาม ปรีดี พนมยงค์ นามนี้ดูเหมือนว่าชาวไทยแทบทุกวัยในวันนี้จะคุ้นเคย แต่ก็อาจจะยังไม่รู้จักมักจี่กันดีว่า  ท่านผู้นี้คือใครกัน
          นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗  ตำแหน่งนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้นาม ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
          หนึ่งในกลุ่มคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ประสานงานขบวนการเสรีไทยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนแรก ซึ่งฐานะหลังนี้เองที่ยิ่งสนับสนุนให้ท่านโดดเด่นในวงการการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง  เพราะศิษย์จากรั้วมหาวิทยาลัยนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการปกครองประเทศไทยตลอดมา
          ประวัติ: ท่านเป็นชาวกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเรือนแพย่านวัดพนมยงค์ ลูกชาวนาชาวสวนที่มีฐานะดี สอบไล่ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับปริญญาทางกฎหมาย และได้ “ลิซองซิเอ ทางกฎหมาย” จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย ( Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส
           หลังจากกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม แล้วย้ายไปเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
           หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหารราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของไทยชุดแรกสำเร็จ ท่านเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
            เมื่อถึงช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเสนอรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งต่อมาไม่นานพันเอกพระยาพหลพล-พยุหเสนาทำรัฐประหารอีกครั้งและได้ตั้งคณะกรรมการ สอบสวนคดีดังกล่าวปรากฎว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทิน และนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส
           นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และช่วงที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยพระแสงปืน  นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของเขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบได้ ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
          ต่อมามีรัฐประหารอีกครั้ง นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีไปพำนักอยู่ที่มาเลเซีย จนลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในจีน กระทั่งถึงแก่สัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๓ ปี

ที่มา : จากคอลัมน์ Someone Special  ของ Together MagaZine  ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2555

เฟิร์นและมอส ฟอสซิลมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์

เฟิร์นและมอสเผ่าพันธุ์พฤกษาล้านปีสีเขียว
รูปภาพ เฟินเขากวาง
รูปภาพ เฟินเขากวาง
            เฟิร์น Fern จะสร้างสปอร์ไว้ที่ใต้ท้องของใบ สปอร์ของเฟินเป็นผงสีน้ำตาล อาจเรียงรายเป็นรูปวงกลม หรือ เป็นขีด เป็นเส้น มันใช้สปอร์นี้ในการขยายพันธุ์ เมื่อสปอร์มีขนาดและอายุได้ที่ก็จะแตกตัวออก ปลิวกระจายไปในอากาศ หรือติดไปตามแข้งขา ลำตัวสัตว์ แพร่กระจายสายพันธุ์ แตกหน่อเกิดเฟินต้นใหม่ในที่ต่าง ๆ ในสภาพธรรมชาติ เฟินมักจะมีมดอาศัยทำรังอยู่ด้วย และมดก็ชอบที่จะกินสปอร์เฟินเป็นอาหาร ทว่าอาหารอื่น ๆ ที่มดสะสมไว้ในรังของมันก็ยังเป็นสารอาหารชั้นดีให้แก่เฟินด้วย 
รูปภาพมอส
 รูปภาพมอส
              มอส Moss ญาติดึกดำบรรพ์ของเฟิน ในอาณาจักรพืชเราเรียกพวกมันว่า Pteridophyta เติบโตขยายเผ่าพันธุ์ร่วมยุคสมัยหลายร้อยล้านปีมาด้วยกัน  มอสและเฟินเป็นพืชกลุ่มแรก ๆ ของโลก พวกมันมีคลอโรฟิลล์สีเขียวสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้โดยลำพังไม่ต้องง้ออาหารจากใคร มอสไม่ถูกจัดอยู่ในสารบบพืชชั้นสูง เพราะมันไม่มีราก ไม่มีลำต้น และไม่มีใบที่แท้จริง อีกทั้งยังปราศจากดอกจึงต้องแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์ โดยอาศัย ลม น้ำ หรือแมลงพาไป ขณะเดียวกัน เฟิน ถือว่ามีวิวัฒนาการที่สูงกว่า แม้ว่ายังต้องสืบพันธุ์ด้วยสปอร์อยู่ แต่มันก็มีรากที่แท้จริง ลำต้นมีท่อน้ำเลี้ยงและส่งอาหาร บางชนิดมีลำต้นแบบเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ ลักษณะคล้ายพวกปาล์ม อย่าง เฟินต้น หรือ              Tree Fern
            ทั่วโลกพบเฟินมากกว่า 15,000 ชนิด 400 สกุลในธรรมชาติ เฟินหลายชนิดนอกจากเป็นอาหารที่แสนอร่อยให้แก่คนเราแล้ว มันยังเป็นพรรณไม้ประดับที่นักจัดสวนชื่นชอบ อย่าง เฟินข้าหลวงที่แตกพุ่มใบกว้างใหญ่เขียวสดใส หรือ เฟินกระแตไต่ไม้ที่เลื้อยไต่เกาะตามลำต้นไม้ส่งก้านใบทั้งชูช่อและห้อยระย้าอย่างงดงาม รวมทั้งมอสที่เรียกว่าเลี้ยงดูให้ไม่แห้งตายนั้นยากยิ่ง นักจัดสวนหลายคนก็ชื่นชอบโดยเฉพาะสวนริมน้ำตกที่สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติ
              ความหลากหลายชนิดของเฟินและมอส ทำให้เราสามารถพบเห็นมันได้ทั่วทั้งบริเวณป่าที่สมบูรณ์ ทั้งในน้ำ บริเวณชุ่มน้ำ ตามโคนต้นไม้ หรือบนคาคบไม้สูงเกินเอื้อม บนผิวแผ่นผา รวมทั้งขึ้นแซมซอกโขดหินริมลำธาร ที่มีมอสเขียวขจีปกคลุมก้อนหินนั้นอยู่ด้วย
              เฟินและมอส เป็นสีเขียวอมตะแห่งผืนป่า ความชุ่มชื้นอุดมทำให้พวกมันมีสีเขียวสด ความเขียวสดของมันก็เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำเอาไว้ให้ผืนป่านั้นด้วย มอสอาจเกาะลำต้นไม้ กิ่งไม้ จนถึงโคนรากอย่างหนาแน่นจนดูว่าต้นไม้นั้นมีขนสีเขียวปกคลุม มันก็ไม่ได้ส่งรากแยงเข้าไปในเนื้อต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นเพื่อแย่งอาหาร เหมือนกับพวกกาฝากมันจึงไม่เพียงคลุมต้นไม้ให้ดูงดงาม สร้างป่าให้เขียวขจี มอสยังช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ต้นนั้น
              เฟินและมอสเกาะอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่ไม่เพียงช่วยสร้างความชุ่มชื้น มันยังช่วยสร้างโลกให้งดงาม เสริมสร้างบรรยากาศสดใสบริสุทธิ์  ท่องจำไว้ให้ดีว่า เฟินและมอสที่เกาะอยู่ตามลำต้นไม้ทั้งในป่าในสวนหน้าบ้าน หรือสวนหลังบ้าน มันไม่ได้ทำให้ต้นไม้ตายหรือเหี่ยวเฉา เพราะมันแค่อาศัยเกาะ อาศัยชูช่อเลื้อยเพื่อขยายตัวเติบโต ไม่แทงรากดูดกินอาหารจากลำต้นไม้เลย....อย่าเผลอไผลไปตัดมันทิ้งไป

ที่มา : Together Magazine ปีที่ 3 ฉบับที่ 30 เมษายน 2555

วันอังคาร, พฤษภาคม 01, 2555

ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
    พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒  ที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มชีวิตวัยเยาว์ในถิ่นที่เกิด จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๔๓๕ จึงอุปสมบท ณ วัดใต้ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้ยัติเป็นธรรมยุติที่วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) และจำพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี
       พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระภิกษุที่จำเริญธรรมในสายวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายธรรมยุต เป็นต้นแบบแก่หมู่พระสงฆ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตร ซึ่งพระสงฆ์และฆราวาสในสมัยนั้นต่างให้ความศรัทธาเลื่อมใส ท่านเป็นผู้ที่ชักชวนให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อริยสงฆ์สำคัญสายวิปัสสนากรรมฐานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อครั้งยังเยาว์ อุปสมบท ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีที่ท่านจำพรรษาอยู่

       หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลยได้กล่าวถึงพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ว่า "นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริก หมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหารทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย เอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ ชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบรูปร่างใหญ่สันทัด รักเด็ก อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ น้ำผึ้ง.."
         ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๖๑ พระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นได้บำเพ็ญธุดงควัตรในเขตอำเภอหนองสูง จังหวัดนครพนม ต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังออกพรรษา (พ.ศ.๒๔๖๑) จึงกลับไปจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๓ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สุวรรณ และพระอาจารย์สิงห์
          นับแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้ดำรงตำแหน่งพระครูวิเวกพุทธกิจ เจ้าอาวาสวัดเลียบและวัดใต้ จนล่วงสู่ปัจฉิมวัย ราว พ.ศ.๒๒๔๘๐ ท่านได้บำเพ็ญธุดงควัตรและเปลี่ยนมาจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์ดี ฉันโน  ณ วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ถึงแก่มรณภาพขณะก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ ณ วัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๔
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
 ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ 
          พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานซึ่งประดิษฐานอัฐิธาตุของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และจัดแสดงอัฏฐบริขาร สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่าน อันเกิดจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่ออริยสงฆ์องค์นี้
พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน
  ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ วัดดอนธาตุ

Pages